ยกฟ้อง "สนธิ" กับกลุ่ม พธม. ปิดล้อมสภาไล่นายกฯปี 51 ชี้ เป็นการชุมนุมโดยสงบ
ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง 20 แกนนำกลุ่มพันธมิตร ปิดล้อมรัฐสภา ขับไล่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีให้ลาออก เมื่อปี 51 เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตามหลักอหิงสา
จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-7 ต.ค.51 ที่ผ่านมา จำเลยซึ่งเป็นแกนนำได้ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดัน ก่อความวุ่นวายให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากนายกรัฐมนตรี โดยปิดล้อมสถานที่ราชการ,สภาเพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรี สส. และ สว. และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116,215,216,309,310 จำเลยให้การปฏิเสธ สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มี.ค.62
ศาลอาญา พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมของพวกจำเลย เป็นการเเสดงสัญลักษณ์ ปราศรัยที่สมเหตุผล ห้ามปรามไม่ให้ก่อความรุนเเรง ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 63 ได้รองรับไว้ เเละเเม้จะมีการกีดขวางกระทบการจราจรไปบ้าง เเต่ก็เป็นปกติของการชุมนุมเเสดงออกตามสิทธิ การชุมนุมตั้งเเต่วันที่ 5 -7 ต.ค. 51ไม่ปรากฏว่ามีความรุนเเรงหรือมีผู้ใดฝ่าฝืนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย พิพากษายกฟ้องอัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย
ล่าสุดวันที่ 1 พ.ย.66 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ พร้อมอดีตแนวร่วมคนอื่น ๆ รวม 20 คน ได้เดินทางมาตามศาลนัดเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีดำ อ.4924/55 ที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และอดีตแนวร่วมคนอื่น ๆ รวม 21 คน จำเลยในคดีปิดล้อมสภาปี 51 ขับไล่นายกฯสมัคร สุนทรเวช ลาออก ในความผิด 5 ข้อหา ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฯ
เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกมั่วสุม, ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด ,ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
สำหรับ จำเลยทั้ง 21 คน ประกอบด้วย 1.นายสนธิ ลิ้มทองกุล 2.นายพิภพ ธงไชย
3.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (เสียชีวิต) 4.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 5.นายประพันธ์ คูณมี 6.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 7.นายสุริยะใส กตะศิลา 8.นายอมร อมรรัตนานนท์ 9.นายสำราญ รอดเพชร 10.นายศิริชัย ไม้งาม 11.นายสาวิทย์ แก้วหวาน
12.นายพิชิต ไชยมงคล 13.นายอำนาจ พละมี 14.นายกิตติชัย ใสสะอาด 15.นายประยุทธ วีระกิตติ 16.นายสุชาติ ศรีสังข์ 17.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 18.นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี 19.นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก 20.นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ และ 21.นายวีระ สมความคิด
ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยทั้งหมดก่อความวุ่นวาย และชุมนุมไม่ชอบ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเนื่องจากไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลในขณะนั้น ยืนยันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ชอบ จึงออกมาชุมนุมตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
ส่วนข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน เบิกความว่าจำเลยทั้งหมด เป็นคนสั่งการให้มวลชนกระทำการวุ่นวาย แต่เห็นว่ามวลชนตอบโต้ตำรวจเนื่องจากโกรธแค้นที่ เข้ามาสลายการชุมนุม จำเลย 20 คน จึงไม่มีความผิด ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
ส่วนข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นและหน่วงเหนี่ยวกักขัง พยานหลักฐานโจทย์ไม่สามารถเบิกความให้เห็นว่าจำเลยทั้งหมดข่มขืนใจหรือสั่งการใช้ให้ผู้ชุมนุมกระทำการปิดลอมอาคารรัฐสภา แต่เป็นการที่ผู้ชุมนุมทำเองโดยตอบโต้ตำรวจ เพื่อระบายความโกรธแค้น พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมด กระทำผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายกฟ้องความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน