"โครงการผันน้ำยวม" โอกาสการทำเกษตรในหน้าแล้งที่เพิ่มกว่า 1.61 ล้านไร่
โครงการผันน้ำยวม โอกาสการทำเกษตรในหน้าแล้งที่เพิ่มกว่า 1.61 ล้านไร่ หลังมีปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลจากโครงการผันน้ำยวมที่เพิ่มขึ้น 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลจาก"โครงการผันน้ำยวม"ที่เพิ่มขึ้น 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งได้กว่า 1,610,026 ไร่ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ 4,599 ล้านบาทต่อปี
ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ทางการเกษตรขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีปริมาณการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นทุกปีตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ทำให้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2558 - 2569) ได้มีการเสนอมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาโครงการใหม่ การปรับปรุงโครงการเดิม การปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้น
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม เป็นอีกทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ ด้วยแนวคิดในการผันน้ำจากลำน้ำยวมผ่านอุโมงค์ส่งน้ำเพื่อมาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ถึงปีละ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะจากการสำรวจแม่น้ำยวมซึ่งเป็นแม่น้ำในลุ่มน้ำสาละวินที่มีปริมาณน้ำท่า ซึ่งเกิดจากลำน้ำสาขาที่อยู่ในเขตประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 8,937 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 74 เป็นปริมาณน้ำในฤดูฝนที่ไหลลงแม่น้ำเมยแล้วไหลออกสู่แม่น้ำสาละวินที่ประเทศเมียนมา ก่อนลงสู่ทะเลอันดามันโดยที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร
นายศรชัย สิบหย่อม อายุ 68 ปี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ และตัวแทนเกษตรกรอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ได้กล่าวถึงข้อดีของโครงการนี้ว่า การเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลจะช่วยให้เขื่อนสามารถปล่อยน้ำให้เกษตรกรใช้ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรหลายรายต้องสูญเสียรายได้จากพืชผลทางการเกษตรที่เสียหายเมื่อน้ำจากชลประทานขาดช่วง ถ้าโครงการนี้แล้วเสร็จน่าจะช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณน้ำที่เพียงพอกับการทำการเกษตรในแต่ละปี
“หลายปีที่ผ่านมาเกิดภัยแล้งทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องขาดทุน เพราะได้ลงมือหว่านไปแล้วแต่ฝนขาดช่วง ทำให้ไม่มีน้ำ เลยต้องกู้หนี้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนเพาะปลูกกันใหม่ ถ้ามีน้ำใช้เพียงพอจะช่วยให้พวกเราไม่ต้องคอยกังวลเรื่องนี้”
ทางด้านนายประทวน สระทองเพชร อายุ 63 ปี เกษตรกรตำบลหนองโสน จังหวัดพิจิตร เสริมว่า เกษตรกรในพื้นที่นี้มีน้ำจากชลประทานเป็นปัจจัยหลักในการทำการเกษตรกรรม ถ้ามีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เกษตรกรก็มีรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตร เลยอยากฝากภาครัฐให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วย
โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ได้มีการคำนวณว่าถ้าโครงการผันน้ำยวมแล้วเสร็จ ในแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับนำไปใช้เป็นน้ำเพื่อการเกษตรจำนวน 1,495 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นปริมาณน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจำนวน 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แล้วสามารถนำไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 417 ล้านหน่วยต่อปี
รวมแล้วมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมว่ามีถึง 10,036 ล้านบาทต่อปี จากผลประโยชน์ด้านการเกษตร 4,599 ล้านบาทต่อปี หรือคาดว่าจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น 155,444 บาทต่อครัวเรือน รวมถึงผลประโยชน์ด้านน้ำอุปโภคบริโภค 4,290 ล้านบาทต่อปี และผลประโยชน์ด้านไฟฟ้า 1,147 ล้านบาทต่อปี
#น้ำยวม #โครงการผันน้ำยวม #เขื่อนภูมิพล