อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สั่งแบน "ล้ง - ชิปปิ้ง" เซ่น GAP สวมสิทธิ์
“ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สั่งแบน “ล้ง - ชิปปิ้ง” เซ่น GAP สวมสิทธิ์ 3 กระทง แก้ปัญหาก่อนถูกจีนระงับส่งออก พร้อมโชว์ผลงาน 2 ปีงบประมาณ สั่งแบนล้งกว่า 200 ราย
จากกรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากร ด่านศุลกากรอรัญประเทศจับกุมทุเรียนลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ 8,420 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ต่อมาเจ้าของทุเรียน ออกมาร้องโต้ว่าทุเรียนที่ถูกจับไม่ใช่ทุเรียนลักลอบนำเข้า แต่เป็นทุเรียนที่มาจากจังหวัดศรีษะเกษ นั้น ล่าสุดทางกรมวิชาการเกษตรได้มีการตรวจสอบทันทีหลังจากเกิดเรื่อง และพร้อมชี้แจง
นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่ทางกรมฯรับทราบรายงานจากกรมศุลกากร ก็ได้มีการทำงานภายในของเจ้าหน้าที่ สวพ.เขต 4 และผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการ ชี้แจงว่ามีการสวมสิทธิ์ โดยมีข้อสังเกตไม่ได้เขียนเลขรหัส ดังนั้นเมื่อได้ข้อมูลต่าง ๆ กรมวิชาการเกษตร ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่กว่าจะได้ข้อมูลก็ต้องมีการตรวจสอบพยานหลักฐานเพื่อที่จะเข้าไปแจ้งความดำเนินคดี
หลังจากได้ข้อมูลหลักฐานครบ ก็ได้นำข้อมูลหลักฐานแจ้งความดำเนินคดี ณ สถานีตำรวจภูธร อ.เมืองนครพนม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ทางบริษัทผู้เสียหายจะทำการส่งออก โดยเป็นข้อหาอาญา เพราะเกี่ยวกับการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งรองสุขอนามัยพืช (แบบ พ.ก.7) สำหรับทุเรียน ทำให้ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย เพราะฉะนั้นการกระทำผิดดังกล่าว ทางกรมวิชาการเกษตรได้มอบอำนาจให้หัวหน้าด่านนครพนมไปแจ้งความดำเนินคดีในส่วนของตัวแทนผู้ส่งออกและบริษัทที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ในวันนี้(29 มิ.ย.66)หลังจากได้ข้อมูลที่ชัดเจนก็ได้มีการแจ้งความเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางกรมเองก็ได้มีคำสั่งทางกรมวิชาการเกษตรระงับหนังสือแสดงการขึ้นทะเบียยโรงงานผลิตสินค้าพืช และระงับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักรทันที ซึ่งเป็นบริษัทของล้งส่งออก และบริษัทตัวแทนนำเข้า-ส่งเข้า (ชิปปิ้ง) ในส่วนของสินค้าที่ยึดและอายัดไว้หมดแล้วยังไม่มีการส่งออก นอกจากนั้นได้ทำหนังสืออีกฉบับ เป็นคำสั่งของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นการจดทะเบียนผู้ส่งออกทันที กล่าวคือ
1.ระงับล้งส่งออก
2.ระงับบริษัทชิปปิ้ง
3.ผิดอาญา แจ้งข้อมูลเป็นเท็จ ที่จะไปสู่ในการทำผลกระทบที่เสียหายทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการค้าขาย ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรโดยตรง”
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ทางกรมไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามเร่งตรวจสอบให้เร็วที่สุด และที่ผ่านมานับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง มีการดําเนินงานกรณีพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 กว่า 200 ราย“อยากให้เกษตรกร หรือชาวสวนทุเรียน หวงแหนใบ GAP ตามที่เคยเตือนในภาคตะวันออกว่า อย่าให้มีการซื้อขายให้ดูแลใบ GAP เหมือนบัตรประชาชน ไม่เช่นนั้นจะถูกมิจฉาชีพ นำไปอ้างหรือไปสวมสิทธิ์เยอะมากอย่างที่เห็นกันอยู่ ดังนั้นขอให้ดูแล GAP ให้ดี จะมอบให้ใครก็ต้องเขียนสลักหลังให้ชัดเจน”