ประชาสัมพันธ์

heading-ประชาสัมพันธ์

คนรุ่นใหม่ต้องไร้คอร์รัปชัน

30 มิ.ย. 2566 | 15:05 น.
คนรุ่นใหม่ต้องไร้คอร์รัปชัน

คนรุ่นใหม่ต้องไร้คอร์รัปชัน การทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยของนั้น เกินกว่าครึ่งของคนในสังคม กระทำไปโดยไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นการทุจริตด้วยความคุ้นชิน


   คนในสังคมไทยต่างรู้ดีว่า การทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยนั้น มีตั้งแต่บนถนนหนทางไปจนถึงยอดตึกระฟ้า และหากจะมีใครคิดจะเปรียบเทียบว่าการทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยเบ่งบานปานดอกเห็ดในหน้าฝน ขอบอกว่านั่นเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดพลาด เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นเห็ดในฤดูไหน ก็บานไม่มากและบานไม่ทนเท่ากับการคอร์รัปชัน และเห็ดก็ไม่เคยไปเบ่งบานบนยอดตึกระฟ้า ที่บอกว่ากลางถนนนั่น ไม่ได้หมายแค่ส่วยรถบรรทุก ส่วยล็อตเตอรี่ ส่วยเทศกิจ หรือ นานาส่วย ส่วนที่เป็นตึกระฟ้าก็ไม่ได้จำกัดแค่การออกใบอนุญาตการก่อสร้างอย่างที่ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ พูดในที่ประชุม ผอ.เขต การทุจริตในวงราชการทั่วประเทศนั้นแบ่งเป็นรุกกับรับ แบบที่สมัยก่อนเขาเปรียบว่า กินตามน้ำกับกินทวนน้ำ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

heading-ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนรุ่นใหม่ต้องไร้คอร์รัปชัน

 

 


     ทั้งหมดนี่เป็น"บริการพิเศษ"ที่ ข้าราชการมีน้ำใจช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ หรือชาวบ้านที่มาใช้บริการสะดวกสบาย ในขณะที่อีกฝ่ายก็ตอบแทนด้วย"สินน้ำใจ"  กรณีแบบนี้มีมานานตั้งแต่ยุคสุโขทัยโน่นแล้ว เราเก็บส่วยสาอากร การบอกว่า ท่านบ่เอาจังกอบ  แสดงให้เห็นว่า ก่อนพ่อขุนรามคำแหงนั้น มีการเอาจังกอบ และร้อยทั้งร้อย เมื่อใดที่มีการเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐ รูรั่วก็จะต้องเกิด เพราะนี่คือธรรมชาติของมนุษย์ “รูรั่ว”นี่แหละที่เป็นการปล่อยปละละเลยของผู้รักษากฎระเบียบที่ปกป้องประโยชน์ของสังคม เคยมีคนพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า การทุจริตในวงราชการนั้นมีอยู่ทุกวิชาชีพ  

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การทุจริตมีอยู่อยู่ทั่วทุกหัวระแหงทั้งในองค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระ ทั้งในระดับเมืองและชุมชนท้องถิ่น แม้แต่กิจการเจ้าของคนเดียวก็ยังมีโดยจะเห็นได้จากคำพังเพยว่า “ไว้ใจลูกจ้างตาบอดข้างเดียว ไว้ใจลูกหลานตาบอด 2 ข้าง”  ที่น่าแปลกใจกว่าก็คือ ทุกองค์กรหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เรานึกถึงได้  ล้วนมีหน่วยงานหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ไล่กันตั้งแต่ในทำเนียบรัฐบาลไปกระทรวงต่าง ๆ กรมเล็กกรมน้อยสำนักงานทั้งหลายยันไปถึงองค์การบริหารส่วนตำบล เพียงพิมพ์คำค้นหาว่า “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต”  หรือ “Anti-Corruption Center” ก็จะพบความหลากหลายรูปแบบ มีทั้งที่เป็นศูนย์ ชมรม สมาคม ส่วนที่ใครจะถามว่า ในเมื่อเรามีองค์กรต่อต้านการทุจริตมากมายอยู่ในประเทศ  ทำไมจึงยังอยู่ในกลุ่มค่อนล่างของตารางดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) มาอย่างต่อเนื่องคงต้องบอกว่านี่เป็นโจทย์ที่ท้าทาย

     ซึ่งมีความพยายามจะแก้ไขกันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานเช่นกัน แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ผล เพราะอันดับของประเทศไทยก็กระเตื้องกันมาต่อเนื่องเช่นกัน โดยเมื่อ 31 มกราคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เผยแพร่ผลการสำรวจที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) เปิดเผยว่า อันดับของไทยเลื่อนจาก 110  ในปี 2564 มาอยู่ที่ 101 โดยมีเพิ่มจาก 35 คะแนน เป็น 36 คะแนน แต่ก็ยังน้อยกว่ามาเลเซียที่ได้ 47 คะแนน และเวียดนามที่ได้ 42 คะแนน

 


การทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยของเรานั้น เกินกว่าครึ่งของคนในสังคม กระทำไปโดยไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นการทุจริตด้วยความคุ้นชิน ดังเช่นที่เคยปรากฎในภาพยนตร์โฆษณากระตุ้นสร้างความตระหนักให้คนไทยห่างไกลจากทุจริตคอร์รัปชันของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตอนหนึ่งได้สื่อให้เห็นถึงการกระทำทุจริตของพ่อแม่  โดยสรุปว่า “อีกหน่อยก็ชิน” คือการตอกย้ำว่า คนไทยคุ้นชินกับการทุจริตประพฤติมิชอบมาตั้งแต่รู้ความ

คนรุ่นใหม่ต้องไร้คอร์รัปชัน


ทั้งนี้ การทุจริต แปลว่า การประพฤติชั่ว ประพฤติไม่ดี ในทางพระพุทธศาสนาท่านแบ่ง เป็น 3 ประการ ประกอบด้วย 

 


(1)กายทุจริต คือ การประพฤติชั่วทางกาย แบ่งได้ 3 ประการ ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม นี่คือการทุจริตด้วยการกระทำ

 


(2)วจีทุจริต หรือ การประพฤติชั่วทางวาจา แบ่งเป็น 4 ประการ คือ การพูดเท็จ การพูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ และพูดส่อเสียด  แค่นินทาด่าทอผู้อื่นก็ถือว่าประพฤติมิชอบ

 


(3)มโนทุจริต หมายถึง การประพฤติชั่วทางใจ มี 3 ประการ คือ ความโลภ ความคิดพยาบาท ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม  กรณีนี้แค่คิดก็ผิดแล้ว


ในหลักปฏิบัติของทุกศาสนาที่มีอยู่ในประเทศไทย  ทุกคนต่างก็รู้กันดีว่า อะไรดีอะไรชั่ว  แต่มีน้อยรายนักที่จะตามหลักธรรมคำสอน เพราะส่วนใหญ่มองเห็นผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม  มองการได้เอาเปรียบสังคมว่าเป็นความฉลาดล้ำของตน
ประเทศไทยจึงกระบวนการ และความพยายามที่ต่อสู้กับทุจริตทุกรูปแบบอย่างจริงจังมาโดยตลอด  โดยมีการจัดทำแผนแม่บทเพื่อต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในแผนแม่บทนี้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 แนวทางหลัก ประกอบด้วย

 


(1)การป้องกันที่เน้นการปรับพฤติกรรมของคนในสังคม  โดยมีเป้าหมายที่“การปฏิรูปคน” ด้วยการปลูกฝังวิธีคิดให้กับเด็กและเยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกซื่อสัตย์สุจริต เพื่อสร้างพลังร่วม ขณะเดียวกันก็ “ปฏิรูประบบ”ด้วยการสร้างนวัตกรรมต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในหน่วยงานราชการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ให้สังคมได้รู้เท่าทันกระบวนการทุจริต เพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและแจ้งข้อมูล ซึ่งจะเป็นการช่วยกันลดการทุจริตประพฤติมิชอบ

 


(2) การปราบปรามที่จะเน้นการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกระบวนการและกลไกการปราบปรามการทุจริต ทั้งในการดำเนินคดีที่รวดเร็ว และเป็นธรรม ตลอดจนการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ  

 


โดยกำหนดเป้าหมาย 20 ปีว่า ภายในปี 2580 ไทยจะต้องมีค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตของโลกติดอยู่ในอันดับ 1-20 โดยมีแนวทางการพัฒนาเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ท็อป 20 ของโลก ประกอบด้วย


(1) “ปลูก”และ”ปลุก” จิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี มีวัฒนธรรมสุจริต ปลูกฝังและหล่อหลอมวัฒนธรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัย ทุกระดับ  ให้สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ส่วนตน สิ่งใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม มีความละอายต่อการกระทำความผิด ไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต และมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมสุจริตในระดับชุมชน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมค่านิยมที่ยึดประโยชน์สาธารณะ ซึ่งนี่แหละ ตรงกับความหวังที่ว่า คนรุ่นใหม่ต้องไร้คอร์รัปชัน


(2) ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีความใสสะอาดปราศจากพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต ปฏิบัติหน้าที่อย่างเปิดเผย โปร่งใส ถูกต้องเป็นธรรม ไม่คดโกง รู้จักแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงาน นั่นก็คือ การสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกและค่านิยมในการต่อต้านการทุจริตให้แก่บุคลากรขององค์กร โดยการสนับสนุนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ติดตามพฤติกรรมเสี่ยงและแจ้งเบาะแส เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริต ประพฤติมิชอบได้ มีมาตรการสนับสนุนและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส


(3) พัฒนาค่านิยมของนักการเมืองให้มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารประเทศ ท้องถิ่น ชุมชน ต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมสูงกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมทั่วไปในสังคม เพื่อเป็นต้นแบบของสังคม  ต้องมีการพัฒนายกระดับการมีจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อสร้างนักการเมืองที่มีคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งกำกับจริยธรรมภายในพรรคการเมือง

 


(4) ปรับ"ระบบ" เพื่อลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐ  ด้วยการสร้างนวัตกรรมการต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐมีความโปร่งใส  ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน รวมถึงการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริต เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ มีมาตรการ ระบบ หรือแนวทางในบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น ๆ 

 


(5) ปรับระบบงานและโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการลดการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนการใช้ดุลพินิจ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน เป็นการสร้างมาตรฐานที่โปร่งใสในกระบวนการบริการของภาครัฐ  สร้างขั้นตอนกระบวนการและระยะเวลาในการปฏิบัติงานด้วยวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนตรวจสอบได้ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตรวมถึงการสร้างความโปร่งใสในการบริการข้อมูลภาครัฐทั้งระบบอาทิ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้งบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ที่เปิดเผยเข้าถึงได้ 

 


จากแนวทางทั้งหมดที่อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ จะเห็นได้ว่าการจะป้องกันและปราบปรามกระบวนการทุจริตของประเทศ  จะเดินไปในทาง “ปลูก”และ “ปลุก”จิตสำนึกให้เด็กและเยาวชน เพื่อสร้างวัฒนธรรมสุจริต แต่ไม่ควรจำกัดแต่ในสถานศึกษา  ควรกระจายความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบไปในทุกภาคส่วนของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน

 

 โดยเฉพาะสังคมชุมชน ชี้ให้ทุกคนในสังคมได้รู้ว่าการกระทำแบบใดส่อไปในทางทุจริตควบคู่กับการนำเอาการกระทำดีของผู้ร่วมต่อต้านการทุจริตมายกย่องเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศชาติบ้านเมืองอีกด้วย ที่สำคัญเหนืออื่นใด การตระหนัก และหวาดกลัวในหลักศาสนาย่อมนำมาซึ่งการเตือนใจ ให้ละอายต่อการทำผิดบาป เพราะการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนนั้นมันไม่ยั่งยืน เป็นกรรม และ “เป็นทุกข์”  ตามคำพระที่ว่า “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นจะตามสนอง” อาจสุขที่ได้จับเงิน แต่ต้องทุกข์ทั้งยามหลับยามตื่นเพราะหนีความจริงในใจไปไม่พ้นที่สำคัญที่สุด ต้องทำให้สังคมให้รู้ว่า “ทำดีต้องได้ดี”

ข่าวล่าสุด

heading-ข่าวล่าสุด

ข่าวเด่น

เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 4 กลุ่มอายุ 21-59 ปี โอนเงินช่วงไหน

เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 4 กลุ่มอายุ 21-59 ปี โอนเงินช่วงไหน

"เมืองไทยประกันภัย" จ่ายค่าสินไหมทดแทน กรณีอุบัติเหตุรถไฟชนกระบะ จ.ตรัง

"เมืองไทยประกันภัย" จ่ายค่าสินไหมทดแทน กรณีอุบัติเหตุรถไฟชนกระบะ จ.ตรัง

"กชเบล" MGT 2025 เล่าชีวิตวัยเด็ก โตมากับความรุนแรงในครอบครัว

"กชเบล" MGT 2025 เล่าชีวิตวัยเด็ก โตมากับความรุนแรงในครอบครัว

เปิดสาเหตุ "บังมัด" ตบหน้า "สันธนะ" กลางร้านดังทองหล่อ

เปิดสาเหตุ "บังมัด" ตบหน้า "สันธนะ" กลางร้านดังทองหล่อ

สาวคันรอบดวงตา เจอก้อนเนื้อขยับได้ หาหมอถึงกับตกใจรู้เป็นอะไร

สาวคันรอบดวงตา เจอก้อนเนื้อขยับได้ หาหมอถึงกับตกใจรู้เป็นอะไร