เกินครึ่ง! โครงการอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินคลองด่าน คืบหน้ากว่าร้อยละ 60
โครงการอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินคลองด่าน คืบหน้ากว่าร้อยละ 60 แบ่งเป็นการก่อสร้างปล่องอุโมงค์จำนวน 4 ปล่อง ขุดเจาะแนวอุโมงค์แล้วเสร็จกว่า 1.81 กิโลเมตร
นายฐิติวุฒิ เงินคล้าย รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินและส่วนประกอบสำหรับสถานีต้นทางคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ล่าสุด มีผลการดำเนินงานคืบหน้ากว่าร้อยละ 60 โดยแบ่งเป็นการก่อสร้างปล่องอุโมงค์จำนวน 4 ปล่อง ขุดเจาะแนวอุโมงค์แล้วเสร็จกว่า 1.81 กิโลเมตร รวมถึงการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จเป็นระยะทาง 1.52 กิโลเมตร
รองผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะองค์กรที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร รับผิดชอบการสร้างความมั่นคงของระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งในบริเวณถนนเทพารักษ์ ถนนบางนา-ตราด และถนนคลองด่าน-บางพลี มีความต้องการใช้ไฟฟ้าของชุมชน และพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สถานีต้นทางเทพารักษ์ และ สถานีต้นทางบางพลี ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงมีภาระการจ่ายไฟฟ้าสูงขึ้น
จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มสถานีต้นทางคลองด่านเพื่อรองรับความต้องการ และเสริมความมั่นคงบริเวณดังกล่าวด้วยการดำเนินโครงการก่อสร้างในครั้งนี้ โดยปัจจุบันมีการก่อสร้างที่สามารถทำได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้
โดยรายละเอียดภาพรวมการก่อสร้าง มีระยะทางก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 4.5 กิโลเมตร แบ่งเป็นการก่อสร้างอุโมงสายส่งไฟฟ้าใต้ดิน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร เป็นระยะทาง 2.8 กิโลเมตร และการก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินระยะทาง 1.7 กิโลเมตร มีเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2568
สำหรับอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินคลองด่าน ทำหน้าที่เชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับสถานีไฟฟ้าต้นทางคลองด่าน (230 kV) โดยจ่ายไฟฟ้าด้วยสายส่ง 115 kV จำนวน 10 วงจร และสายป้อน 24 kV จำนวน 21 วรจร ครอบคลุมการจ่ายไฟฟ้าในบริเวณบางส่วนของ ถนนสุขุมวิท ถนนบางนา-ตราด ถนนเทพารักษ์ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยลดจำนวนและระยะเวลาที่เกิดการไฟฟ้าดับหรือไฟฟ้าตก สามารถรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงของการจ่ายไฟฟ้า และตอบสนองการขยายโครงข่ายไฟฟ้าได้ในบริเวณกว้าง
#อุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินคลองด่าน
#MEA #การไฟฟ้านครหลวง
#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร