การยางแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนา คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ขายได้จริงหรือ
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดเวทีเสวนาหัวข้อเรื่อง"คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ขายได้จริงหรือ"ภายในงานวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2567
ตรัง- เมื่อเร็วๆนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดเวทีเสวนาหัวข้อเรื่อง... “ คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ขายได้จริงหรือ”ภายในงานวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ กยท. นายพัฒน์พงศ์ เนียมมีศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธกส. นายอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สำนักรับรองคาร์บอนเครดิตฯ
ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อเกษตรกรได้เข้าใจถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน,ไนตรัสออกไซด์และอื่นๆ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนขึ้น ขณะที่ผลการศึกษาต้นไม้เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุด รวมถึงต้นยางพาราที่มีความสามารถกักเก็บคาร์บอนฯได้เช่นกัน
นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ เผยว่า นโยบายรมว.เกษตรฯ ต้องการจะเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี ดังนั้น เกษตรกรที่สวนยางพาราจะต้องพัฒนารายได้ ตอนนี้ กยท.นำร่องศึกษาเบื้องต้น เนื้อที่ 49,900 ไร่ ประกอบด้วย จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 20,000 ไร่ , จ.เลย จำนวน 10,000 ไร่ ,จ.จันทบุรี จำนวน 10,000 ไร่ และกยท.ทำในพื้นที่กรมธนารักษ์ในพื้นที่ อ.นาบอน จ.นครศรีฯ ครบ 3 ปีก็จะไปตรวจวัดปริมาณคาร์บอนฯกันใหม่ว่าจะสามารถผลิตคาร์บอนเครดิตได้ปริมาณเท่าใด ก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ
ตอนนี้ได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรไว้ เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชาวสวนยางในอนาคต และเชื่อมโยงเรื่องการแข่งขันทางการค้าในระดับโลกด้วย
คาร์บอนเครดิต คือ การรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากชาวสวนยาง โดยเกษตรกรที่จะร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. คนที่ซื้อขณะนี้นำร่องคือ ธกส. ต่อไปภาคอุตสาหกรรมใดๆที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกร เพื่อชดเชยกับที่ตัวเองปล่อยออกไป ดังนั้น สวนยางพาราที่มีกว่า 20 ล้านไร่ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.
และยังไม่ขึ้นทะเบียนอีกจำนวนมาก หากชาวสวนยางสมัครเข้าร่วมโครงการขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทเอกชน จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางได้ในอนาคตและร่วมกันลดโลกร้อนด้วย เบื้องต้น ธกส.นำร่องทำโครงการคาร์บอนเครดิตที่จ.ขอนแก่น ชื่อโครงการธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง
โดย ธกส.เป็นคนรับซื้อคาร์บอนเองในราคา 3,000 บาทต่อตันคาร์บอน แต่ตอนนี้มีไม่เพียงพอ รอเกษตรกรชาวสวนยางสร้างคาร์บอนเครดิตให้ เหตุที่ซื้อสูงเพื่อต้องการนำร่องให้เอกชนใหญ่ หรือภาคอุตสาหกรรมจะต้องซื้อในราคาที่เป็นธรรมกับเกษตรกร