ประธานบอร์ด กยท. ถกประเด็น "โหนกระแส ยางพารา ไปต่อหรือพอแค่นี้"
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเวทีถกประเด็นร้อน “โหนกระแส ยางพารา ไปต่อหรือพอแค่นี้” ภายในงานวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2567
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเวทีถกประเด็นร้อน “โหนกระแส ยางพารา ไปต่อหรือพอแค่นี้” โดย ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ด กยท. ภายในงานวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2567 จ.ตรัง เน้นย้ำทิศทางและแนวทางการบริหารยางพาราทั้งระบบ มุ่งผลักดันราคาสินค้ายางพาราให้สูงขึ้น โดยไม่แทรกแซงราคา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงในอาชีพแก่ชาวสวนยาง ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
ดร.เพิก เลิศวังพง กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด กยท. ซึ่งได้ไฟเขียวจาก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำงานเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเต็มที่ ตนเองได้เดินหน้าทุกรูปแบบ ทั้งบูรณาการความร่วมมือจากทั้ง ภาครัฐ เอกชน สถาบันเกษตรกรและเกษตรกรชาวสวนยาง
เพื่อขับเคลื่อนยางพาราทั้งห่วงโซ่อุปทานร่วมกัน ซึ่งรวมทั้งการลุยซื้อยางเก็บในช่วงที่ราคายางตกต่ำ เพื่อเอาไว้สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ และเตรียมผลิตยางล้อรถยนต์ในแบรนด์ของ กยท. ตั้งเป้าจะซื้อยางให้ได้ปีละ 4 แสนตัน ซึ่งถือเป็นการดึงยางออกจากระบบจะส่งผลให้ราคาสูงขึ้นได้ ตลอดจนผลักดันยางพาราให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR เพื่อสร้างความน่าเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงการได้เดินทางไปพบปะเจรจากับมาเลเซียและจีน
เพื่อเจรจาค้าขายยางพารา พร้อมประกาศไทยจะเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลกในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการเดินหน้าปรามปรามสินค้าเกษตรกรผิดกฏหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยได้เดินทางเจรจาขอความร่วมมือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนในประเทศแหล่งต้นทางต่างๆ
ตลอดจนมีนโนบายการลดต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดย กยท.จะขายปัจจัยการผลิตเองในแบรนด์ของ กยท. เช่น กรดฟอร์มิก ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ การงัดกลยุทธที่ทำทุกรูปแบบดังกล่าว เป็นผลทำให้ราคายางสูงขึ้นตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา โดยยางแผ่นรมควันสูงถึง 94 บาท/กก. และ น้ำยางสดที่ 84 บาท/กก.
ทั้งนี้ ตนได้ทำตามที่ตั้งใจตั้งแต่ต้นว่า จะแก้ปัญหาโดยไม่ใช้วิธีการแทรกแซงราคายาง และจะไม่ทำนโยบายชดเชยราคา ซึ่งท้ายที่สุดก็ทำได้จริง โดยตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาที่ราคายางปรับตัวสูงขึ้นนั้นพบว่า เงินกลับสู่เกษตรกรแล้วกว่า 54,000 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้มีการแทรกแซงราคา นอกจากนี้ ยังกำชับว่าหากมีการปล่อยมือไม่ทำงานอย่างเข้มแข็งก็จะถูกฝ่ายตรงข้ามกับเกษตรกรกดราคาให้ลดต่ำลง แต่ทางตนเองและคณะทำงานจะสู้อย่างเต็มที่ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางให้ดีที่สุด เชื่อมั่นว่าปลายปีนี้ราคายางจะขึ้นไปถึงเลข 3 หลักได้
ในช่วงท้ายของเวทีถกประเด็น ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางได้ถามคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมีประเด็นร้องขอก่อสร้างโรงงานน้ำยางข้น ด้านประธานบอร์ด กยท. ระบุ สามารถทำได้ ขอให้หาพื้นที่ให้ได้ประมาณ 50 ไร่ และเขียนโครงการเสนอเข้ามาทางบอร์ดพร้อม