ชป. วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ให้เพียงพอใช้ตลอดแล้งหน้า
กรมชลประทาน ติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เตรียมเข้าสู่การบริหารจัดการน้ำฤดูฝน เก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า
วันนี้ (22 เม.ย. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (22 เม.ย. 67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 43,139 ล้าน ลบ.ม. (57% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 19,198 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก
(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)
มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 11,703 ล้าน ลบ.ม. (47% ของความจุอ่างฯรวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 5,007 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ 1 พ.ย. 66 จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 22,745 ล้าน ลบ.ม. (92% ของแผน) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 8,189 ล้าน ลบ.ม. (95% ของแผน)
ทั้งนี้ เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 1 สัปดาห์จะเข้าสู่การบริหารจัดการน้ำฤดูฝน กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ พิจารณาวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก พร้อมเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ย้ำให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชน ตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์