เตือนรัฐบาลตื่นตัวด่วน พายุโนรูเข้าไทยเมื่อไหร่ 35 ล้านคนเดือดร้อนทันที
ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี เตือนรัฐบาลตื่นตัวด่วน พายุโนรูเข้าไทยเมื่อไหร่ 35 ล้านคนเดือดร้อนทันที ชี้ รัฐบาลจะต้องเตรียมการเผชิญเหตุภายในอีก 24 ชั่วโมงต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการเผชิญเหตุประกอบไปด้วย
จากสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นโนรูจ่อเข้าไทย ล่าสุด วันที่ 27 กันยายน 2565 ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติคนแรกของประเทศไทย เตือนรัฐบาลตื่นตัวด่วน พายุโนรูเข้าไทยเมื่อไหร่ จะมีคนไทย 30-35 ล้านคนเดือดร้อนทันที
วันที่ 27 กันยายน 2565 ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี เตือนรัฐบาลเตรียมการรับมือกับพายุโนรูที่จะสร้างความรุนแรงและความเสียหายให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยพายุโนรูจะเป็นพายุโซนร้อนที่ใหญ่ที่สุดลูกหนึ่ง นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเคยประสบมา ขนาดของพายุลูกนี้ ครอบคลุมเนื้อที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง รวมพื้นที่ทั้งหมดครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือมากกว่า 250,000 ตารางกิโลเมตร พี่น้องประชาชน 30-35 ล้านคน จะได้รับผลกระทบ เพราะจะมีฝนตกหนัก 100-300 มิลลิเมตรหรือมากกว่าในบางพื้นที่ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณฝนที่สูงมาก ปริมาณฝนดังกล่าวจะเพิ่มน้ำท่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล 10 เขื่อน
แม้เขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ จะมีความสามารถรับน้ำได้อีก 10,000 ลูกบาศก์เมตร และระบบน้ำในภาคเหนือ รับน้ำได้อีก 10,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้พื้นที่ภาคกลางอิ่มตัวแล้ว ไม่มีความสามารถซึมน้ำได้อีก ดังนั้นปริมาณน้ำฝน 100,000 มิลลิเมตร จะมีน้ำเหลือ ไหลลงสู่ภาคกลาง 70,000-80,000 ลูกบาศก์เมตร และบางพื้นที่น้ำท่วมลงมา ในลักษณะหน้ากระดาน
พายุลูกนี้ เป็นพายุลูกที่ 16 แต่เป็นพายุที่ให้น้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อผสมความชื้นในทะเลจีนตอนใต้ และมีร่องมรสุมในพาดผ่านตรงกลาง มีหน้าที่เป็นกับดักความชื้นที่ถูกป้อนจากมหาสมุทร รัฐบาลจึงต้องเร่งเตรียมการ เพราะปริมาณน้ำจากพายุโนรู จะไหลลงสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงเวลาเดียวกันกับน้ำทะเลขึ้นสูง ซึ่งยากต่อการระบายเป็นอย่างมาก และต่อจากนี้เชื่อว่าจะมีพายุเข้ามาอีก 1-3 ลูก แต่ความรุนแรงน้อยกว่า
โดยรัฐบาลจะต้องเตรียมการเผชิญเหตุภายในอีก 24 ชั่วโมงต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการเผชิญเหตุประกอบไปด้วย
- การตั้งหน่วยเผชิญเหตุประจำตำบล เรียกทหารประจำการกระจายไปในตำบล เพื่อช่วยเหลือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในการเผชิญเหตุ
- จัดเตรียมเครื่องมือในการเผชิญเหตุให้พร้อม เช่น เรือบด เชือกฯลฯ พื้นที่ที่ได้รับกระทบ เช่น พื้นที่ราบ ควรใช้ทหาร ส่วนพื้นที่บนเขา เจ้าหน้าที่กรมอุทยานและกรมป่าไม้ ประจำการในพื้นที่ใกล้หมู่บ้าน ประชาชน และให้ตำรวจอยู่ในเมืองอย่างเดียว
เมื่อผ่านระยะ 3 วันไปแล้วจะเป็นระยะค้นหา ช่วยเหลือ ต้องเตรียมการอุปกรณ์ช่วยเหลือให้พร้อม เช่น เรือ เฮลิคอร์ปเตอร์ อุปกรณ์ให้กับกลุ่มงานทั้ง 3 กลุ่มข้างต้น รัฐบาลต้องตั้งวอร์รูม เพิ่มการทำงานให้มีบทบาทที่ชัดเจนและจริงจังมากกว่านี้ จัดหาบุคลากรที่มีความรู้ และมีอำนาจเต็มเข้าไปสั่งการโดยตรง และต้องเป็นคนรู้จริง ทั้งนักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์ ผู้มีความรู้ ต้องประกาศเป็นวันหยุดราชการทันทีตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2565 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับเวียดนามที่ดำเนินการแล้ว ทั้งปิดโรงเรียน สถานที่ราชการ ฯลฯ
ตั้งวอร์รูมในทำเนียบรัฐบาล ต้องเปิดระบบทีวีพูลและวิทยุพูล โดยต้องออกข่าวอย่างต่อเนื่อง สื่อสารไปยังประชาชน อย่างเช่น เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติสึนามิ เมื่อปี 2547 เจ้าหน้าที่รายงานของทีวีพูลประจำการที่ตนตลอดและต้องสั่งการให้รัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ประสบเหตุโดยเด็ดขาด ไม่ต้องลงพื้นที่โดยไม่จำเป็น
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews