ครม.เห็นชอบให้การรถไฟฯ กู้เงินบรรเทาการขาดสภาพคล่อง ทะลุแสนล้านบาท
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 15,200 ล้านบาท
ครม.อนุมัติให้การรถไฟฯกู้เงินบรรเทาการขาดสภาพคล่องยื่นกู้ทะลุแสนล้านบาท เนื่องด้วยสถานการณ์ขาดทุนต่อเนื่อง ชง ครม.กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 9 ปี รวมวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท กระทรวงการคลัง - สศช.จี้เดินหน้าตามแผนฟื้นฟู พร้อมออกมาตรการจูงใจเพิ่มปริมาณการเดินทางและการขนส่ง
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 15,200 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้นวงเงิน 1,500 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีการประมูลวงเงินกู้ระยะสั้นตามความเห็นของกระทรวงการคลัง และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ดีจากข้อมูลนับตั้งแต่ปี 2558 พบว่า ร.ฟ.ท.ได้ขอกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องรวมแล้วจำนวน 88,905 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคม รายงานว่า ร.ฟ.ท.ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าปี 2566 ร.ฟ.ท.จะมีเงินสดรับ 59,320 ล้านบาท และเงินสดจ่าย 74,620 ล้านบาท (มีเงินสดยกมาจากปี 2565 จำนวน 100 ล้านบาท) ส่งผลให้ ร.ฟ.ท.ขาดเงินสดไว้ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 15,200 ล้านบาท
สำหรับเงินวงเงินกู้ระยะสั้น 1,500 ล้านบาท จะเป็นวงเงินสำรองสำหรับกรณีที่ต้องมีการใช้จ่ายเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการต้องบริหาร ขณะที่รายจ่ายด้านต่างๆ อาทิ การบำรุงรักษาทาง อาณัติสัญญาณ รถจักรล้อเลื่อนและการบริหารต่างๆ ยังคงเดิม แต่ ร.ฟ.ท. ยังมีภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องและอาจประสบภาวะเงินสดขาดมือในบางช่วง จึงจำเป็นต้องเปิดวงเงินกู้ระยะสั้นในกรอบ 1,500 ล้านบาทข้างต้น สำหรับการสำรองเงินให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย การดำเนินงานต้องกระทบกระเทือนหรือหยุดชะงัก
ทั้งนี้จะกู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินกู้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว
ขณะเดียวกัน หากรวมข้อมูล การขออนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงานของ ร.ฟ.ท.ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2558 – 2566 ที่ขออนุมัติในครั้งนี้ พบว่ามีวงเงินรวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น
ปีงบประมาณ 2558
วงเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท
วงเงินกู้บรรเทาการขาดสภาพคล่อง 8,711.27 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2559
วงเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท
วงเงินกู้บรรเทาการขาดสภาพคล่อง 8,900 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2560
วงเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท
วงเงินกู้บรรเทาการขาดสภาพคล่อง 12,100 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561
วงเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท
วงเงินกู้บรรเทาการขาดสภาพคล่อง 11,284 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2562
วงเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท
วงเงินกู้บรรเทาการขาดสภาพคล่อง 12,000 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2563
วงเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท
วงเงินกู้บรรเทาการขาดสภาพคล่อง 10,910.69 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2564
วงเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท
วงเงินกู้บรรเทาการขาดสภาพคล่อง 11,500 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2565
วงเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท
วงเงินกู้บรรเทาการขาดสภาพคล่อง 13,500 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2566
วงเงินกู้ระยะสั้น 1,500 ล้านบาท
วงเงินกู้บรรเทาการขาดสภาพคล่อง 15,200 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภายใต้การอนุมัติกู้เงินเสริมสภาพคล่องของ ร.ฟ.ท.ในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาเห็นชอบและไม่ขัดข้อง แต่ได้มีความเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้ ร.ฟ.ท.เร่งดำเนินการ อาทิ ควรเร่งรัดดำเนินการตามแผนแก้ไจจปัญหาองค์กรให้สอดคล้องและเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อแก้ไขปัญหาองค์กรให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ควรเร่งส่งมอบสินทรัพย์เพื่อให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกสามารถนำไปบริหารจัดการให้เกิดรายได้ที่อาจเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจการและลดการพึ่งพาเงินกู้และเงินงบประมาณจากภาครัฐได้ อีกทั้ง ร.ฟ.ท.ควรมีแผนบริหารจัดการและมาตรการจูงใจเพื่อเพิ่มปริมาณการเดินทางการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์และผลตอบแทนเพิ่มขึ้น