ส่องภาพ สิ้นสุดช่วงจันทรุปราคาเต็มดวง ในคืนวันลอยกระทง 2565
ภาพล่าสุด วันลอยกระทง 2565 เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา หรือ "ราหูอมจันทร์" สิ้นสุดช่วงจันทรุปราคาเต็มดวงแล้ว
อัพเดทล่าสุด 8พ.ย.65 เมื่อเวลาประมาณ 20.00น. วันลอยกระทง จันทรุปราคาเต็มดวง หรือ “ราหูอมจันทร์" ถือว่าสิ้นสุดช่วงจันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) เข้าสู่ช่วงจันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) หลังจากนี้จะไม่มีปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นในประเทศไทยไปอีก 3 ปี จะได้ชมดวงจันทร์สีแดงอิฐทั้งดวงแบบนี้อีกทีคือวันที่ 8 กันยายน 2568
โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือ ช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก คนไทยสมัยโบราณเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ราหูอมจันทร์"
โดยเมื่อพ้นช่วงจันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) คือเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เนื่องจากแสงขาวจากดวงอาทิตย์จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงระหว่างเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
ก็จะเข้าสู่ช่วง จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน โดยจะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง
นอกจากนี้ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 คืนวันลอยกระทง เป็นปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง" เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15:02 - 20:56 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของขั้วโลกใต้
ประเทศไทย
ดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17:44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ และจะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:44 น. เป็นต้นไป ช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18:41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทยครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ในวันที่ 8 กันยายน 2568
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ tnews