เจ้าของรถ "ชนถลอกนิดเดียว" ประเมินค่าซ่อมมาเข่าแทบทรุด แถมประกันตีเป็นซาก
เจ้าของรถรถยนต์ไฟฟ้า "ชนทางเท้าถลอกแค่นิดเดียว" ประเมินค่าซ่อมออกมาเข่าแทบทรุดแถมประกันให้โอนกรรมสิทธิ์เป็นซากรถ
อีกหนึ่งเรื่องราวที่ต้องยกขึ้นเป็นเคสกรณีศึกษาสำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความร้องเรียนมายังเพจรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง หลังเธอเพิ่งออกรถใหม่ขับมาได้ 1 เดือน ก่อนเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย แต่กลับถูกประเมินค่าเสียหายสูงลิบ จนประกันเสนอคืนทุนแบบอุบัติเหตุหนักที่เสียหายทั้งคันและให้โอนกรรมสิทธิเป็นซาก โดยเจ้าของรถ เล่าว่า
เธอได้ออกรถคันใหม่จ่ายเงินไปร่วมล้านเศษ พร้อมประกันชั้น 1 ตามแคมเปญจากบริษัทรถยนต์ จากนั้นขับมาได้ 1 เดือน รถเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย จากการขับรถเข้าซอยแคบและมีรถสวนมา จึงถอยเพื่ออำนวยความสะดวกให้รถอีกคันไปก่อน แต่ขณะที่ถอยรถได้ขับปีนขึ้นสันขอบทางเล็กน้อย ทำให้มุมกล่องครอบแบตเตอรี่ใต้ท้องรถครูดไปกับสันขอบทาง จนมุมฝากล่องแบตเตอร์รี่อ้าออกมา ซึ่งรถก็ยังขับได้ตามปกติ
จากนั้นเธอได้นำรถเข้าตรวจที่ศูนย์และนำกลับไปใช้ตามปกติเพื่อรอนัดหมาย แต่กลายเป็นว่าทางประกันติดต่อมาแจ้งว่าทางบริษัทรถยนต์ตีมูลค่าซ่อมประมาณ 602,998.50 บาท และพิจารณาคืนทุนประกันที่ 770,000 บาท โดยให้โอนกรรมสิทธิของรถแก่ประกันเสมือนเป็นซาก เพราะทางบริษัทรถยนต์ตีค่าซ่อมสูงเกิน 70% ของวงเงินคุ้มครอง
เจ้าของรถ ยอมรับว่า ช็อกมาก จากอุบัติเหตุที่มีการเสียหายภายนอกเพียงเล็กน้อย แต่ถูกตีมูลค่าความเสียหายสูงลิบ ราวกับว่าเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจนเป็นซากถึงขนาดที่ประกันพิจารณาคืนทุนประกัน หากเป็นอย่างนี้ ไม่เท่ากับว่าลูกค้าต้องสูญเงินราว 200,000 กว่าบาท จากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ทั้งที่มีประกันชั้น 1 อย่างนั้นหรือ ?
ผ่านมากว่า 2 เดือน มีเพียงจดหมายจากทางฝั่งประกันส่งมาถึง 3 ฉบับ ยืนยันว่า จะตีเป็นซากรถ ส่วนทางบริษัทรถยนต์กลับเงียบเฉย ไม่เคยแม้แต่จะนัดหมายเพื่อขอตรวจสอบความเสียหายในรายละเอียดหรือให้ข้อมูลการวิเคราะห์ทางเทคนิคอะไรเลย
ก่อนทางฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์จะติดต่อกลับมาและยังยืนยันว่าค่าซ่อมเป็นมูลค่า 602,998.50 บาท โดยประกันจะช่วย 500,000 กว่าบาท และบริษัทรถยนต์จะให้ส่วนลดอีกประมาณ 40,000 กว่า ส่วนที่เหลือราว ๆ 30,000 บาท เจ้าของรถจะต้องจ่ายเอง ทำให้เจ้าของรถเกิดคำถามขึ้น 3 ข้อว่า...
1. เธอสมควรต้องรับผิดชอบส่วนต่างร่วม 30,000 บาทนี้อย่างนั้นหรือ ? ทั้งที่รถมีประกันชั้น 1 ด้วยอุบัติเหตุที่มีความเสียหายภายนอกเพียงเล็กน้อย แต่กลับถูกประเมินอย่างไม่ใส่ใจให้ต้องแบกมูลค่าความเสียหายที่สูงลิบลิ่ว (ด้วยราคาค่าอะไหล่ + ค่าแรง ที่กำหนดโดยบริษัทรถยนต์) ซึ่งจนถึงขณะนี้ เธอก็ยังไม่ได้รับการนัดหมายเข้าตรวจสอบทางเทคนิคใด ๆ จากบริษัทรถเพื่อให้ความกระจ่างกับลูกค้าว่าอะไรต้องซ่อมหรือต้องเปลี่ยนบ้าง มีราคารายละเอียดอะไรบ้าง
2. ทำไมแคมเปญประกันชั้น 1 ที่ทางบริษัทรถยนต์ให้กับลูกค้าเป็นทุนคุ้มครองความเสียหายเพียง 770,000 บาท ทั้งที่ตัวรถมีมูลค่า 959,000 บาท (หลังหักเงินสนับสนุนจากรัฐ) ซึ่งถามจริง ๆ ว่ามีลูกค้าท่านไหนบ้างที่ซื้อรถจากทางบริษัทจะสังเกตมูลค่าเอาประกันไม่ตรงคุ้มครองเต็มมูลค่าจริงที่ซื้อมา แต่เอาเป็นว่าทุนประกันคุ้มครองไม่เต็มมูลค่ารถทั้งคันตั้งแต่ต้น พอมีความเสียหายสูงจึงเสนอจะปิดคืนเพียงทุนประกัน แล้วจะเอาความชอบธรรมอะไรเข้าครอบครองกรรมสิทธิในรถทั้งคันโดยเหมาเอาเองว่าเป็นซากและจะต้องโอนให้ประกัน ซึ่งประเด็นนี้ คงต้องพึ่งความเป็นธรรมจาก คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย)
3. ทำไมบริษัทรถยนต์ถึงตีมูลค่าซ่อมสูงถึง 602,998.50 บาท ทั้ง ๆ ที่ความเสียหายมีเพียงแค่ฝากล่องคลุมแบตเตอรี่ที่อ้าออก แม้จะอ้างว่าต้องเปลี่ยนกล่องครอบแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่ใหม่ทั้งชุด แต่จริง ๆ แล้วบริษัทเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว จะไม่มีหนทางเชียวหรือ ? ถ้าเช่นนั้น ใครก็ตามที่เจออุบัติเหตุใต้ท้องรถเพียงเล็กน้อย คงต้องได้รับความเสียหายเช่นเดียวกับเธอทุกรายไป หากผู้บริโภครับรู้ในเรื่องนี้ ใครจะกล้าเลือกซื้อรถจากค่ายนี้ เธออยากเห็นการบริหารจัดการของบริษัทรถยนต์ที่ดีและสมควรกว่านี้ ใส่ใจดูแลและไม่ละเลยลูกค้า
เดิมทีเธอชอบรถคันนี้มากและยังได้จองรถรุ่นอื่นไว้อีกคันหนึ่งด้วย จนเมื่อเจอปัญหานี้ จึงคิดจะสละสิทธิ์การจองและหันมาต่อสู้ให้ถึงที่สุด โดยใช้เรื่องราวของเธอเป็นกรณีศึกษาแก่เพื่อน ๆ ผู้บริโภคได้พึงระวัง ให้พิจารณารายละเอียดความเสี่ยงให้รอบด้าน คำนึงถึงความเป็นมืออาชีพและจรรยาบรรณของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ
ล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2565 เจ้าของรถได้เข้ามาอัปเดทเพิ่มเติมว่า ทางประกัน และทางบริษัทรถได้ติดต่อเข้ามาเพื่อแจ้งว่าจะประสานงานระหว่างกันในรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบต่อลูกค้าให้มากที่สุด
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews