อ.เจษฎา เผยข้อมูล สารพิษที่ปนเปื้อนในอาหารอันดับหนึ่ง
อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เผยข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ถึง สารพิษที่ปนเปื้อนในอาหารอันดับหนึ่ง
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เผยผ่านเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ถึงเรื่องสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหารอันดับหนึ่ง ระบุว่า "ฟอร์มาลีน เป็นสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร อันดับหนึ่ง"
วันนี้มีนักข่าวจากกรมประชาสัมพันธ์ จะมาขอสัมภาษณ์ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากสาร "ฟอร์มาลีน" ที่ปนเปื้อนในอาหาร
เลยขอข้อมูลจากสไลด์เรื่อง "สถานการณ์การปนเปื้อนของสารพิษในอาหาร และแนวทางการเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัย" ที่ คุณพลาวัตร พุทธรักษ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเคยเอามาบรรยายในงานเสวนา “กินอยู่อย่างไร...ให้ห่างไกลสารพิษ” ซึ่งผมกับ อ.อ๊อด ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเผยแพร่เตือนกันนะครับ ว่า "ฟอร์มาลีน" นั้น ปนเปื้อนอยู่ใกล้ตัวพวกเรามากกว่าที่คิด
- ในช่วงปี 2565 ทางกรมอนามัยได้ทำการศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนของสารพิษในอาหาร ด้วยการสุ่มตรวจอาหารทั้งหมด 21,080 ตัวอย่าง จากสถานประกอบกิจการด้านอาหารทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565) พบว่า 97% ไม่พบการปนเปื้อน ขณะที่อีก 3% พบการปนเปื้อน
- โดยในกลุ่มของอาหารที่พบการปนเปื้อนของสารพิษนั้น อันดับหนึ่งที่พบมากสุดคือ "ฟอร์มาลีน" พบถึง 31% , รองลงมาคือ ยาฆ่าแมลง 25% , สารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ 19% , สารเร่งเนื้อแดง 11% , สารกันรา 10% , และบอแรกซ์ 4% ตามลำดับ
- สารฟอร์มาลีน มักใช้เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือใช้เป็นน้ำยาดองศพ ลักษณะทั่วไปของฟอร์มาลีนเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์พลาสติกสิ่งทอ ใช้ในการรักษาผ้าไม่ให้ย่นหรือยับ ใช้ป้องกันการขึ้นราในการเก็บรักษาข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต หลังการเก็บเกี่ยว และใช้ป้องกันแมลงในพวกธัญญพืชหลังการเก็บเกี่ยว
- ฟอร์มาลีนเป็นสารอันตราย และห้ามใช้ในอาหารทุกชนิด แต่ปัจจุบันยังมีการนำมาใช้ในทางที่ผิด โดยเข้าใจว่าช่วยทำให้อาหารคงความสด ไม่เน่าเสียได้ง่าย และเก็บรักษาได้นาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย เช่น อาหารทะเลสด เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ผักสดชนิดต่างๆ เป็นต้น
- ความเป็นพิษ : สารฟอร์มาลีนเป็นสารก่อมะเร็งในสิ่งมีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไป จะเป็นพิษเฉียบพลัน ตั้งแต่ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย หมดสติ และหากรับประทานในปริมาณมากไป ก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- อันตรายจากฟอร์มาลีนในอาหาร : การรับประทานฟอร์มาลีนปริมาณ 30 มิลลิลิตร ทำให้เสียชีวิตได้ / "ระยะยาว" องค์การอนามัยโลก รายงานว่า ฟอร์มาลีนเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อทานหรือสัมผัสเป็นระยะเวลานานหรือต่อเนื่อง
- อาหารที่มักพบว่ามีสารฟอร์มาลีน ได้แก่ อาหารทะเลสด (กุ้ง ปู ปลา ปลาหมึก) ผักผลไม้สด สไบนาง (ผ้าขี้ริ้วสีขาว) ปลาหมึกกรอบ
- 4 วิธีเลี่ยง : "อาหารสด" เมื่อดมกลิ่น จะต้องไม่มีกลิ่นฉุนแสบจมูก , "ผักผลไม้" ที่ยังดูสดไม่เหี่ยว ทั้งที่วางขายมาตลอดทั้งวัน , "เนื้อสัตว์สด" ที่มีสีเข้ม และสดผิดปรกติ ทั้งที่ไม่ได้แช่เย็น , "นำมาล้างน้ำ" ก่อนนำอาหารสดมาปรุง ควรล้างน้ำให้สะอาดทุกครั้ง
- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ประกอบการนำหมูแช่ฟอร์มาลีนมาจำหน่าย มีโทษตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากสารฟอร์มาลีนถูกนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามนำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหาร ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลีน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหารหรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิตจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ หากตรวจพบการกระทำดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินการตามกฏหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- เมื่อดูเปรียบเทียบย้อนหลัง จากหน่วยโมบายล์ยูนิตของกรมฯ พบว่าสถานการณ์การปนเปื้อนของสารฟอร์มาลีนในอาหารนั้น เพิ่มขึ้นมาโดยต่อเนื่อง จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 3.27% ในปี พ.ศ 2559 , ได้มีการตรวจพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ ทุกปี จนมาถึง 5.42% ในปี 2564 และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาเป็น 7.73% ในปี 2565
ภาพจากคลิปการเสวนา #กินอยู่อย่างไรให้ห่างไกลสารพิษ ดูคลิปได้ที่นี่
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews