เผยโพสต์ "ชูวิทย์" หลังได้รับหมายศาลแปะหน้าบ้าน ลั่น ปิดปากประชาชน
เผยโพสต์ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" หลังได้รับหมายศาลแปะที่หน้าบ้าน ห้ามวิจารณ์ปมกัญชาพาดพิงพรรคภูมิใจไทย ลั่น ปิดปากประชาชน
ความเคลื่อนไหวล่าสุด นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จากกรณี วันที่ 5 เม.ย.66 หลังมีหมายศาล จากศาลแพ่งมาแปะถึงหน้าบ้านสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามวิจารณ์ปมกัญชาพาดพิงพรรคภูมิใจไทย พร้อมยืนยันเดินหน้าสู้ต่อ ลั่น ปิดปากประชาชน พรรคภูมิใจไทยร้องศาลให้ "ปิดปาก" ผมในการต่อต้านกัญชา
ขอไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราว โดยครั้งแรกเมื่อวาน ศาลยกคำร้อง และได้ยื่นใหม่ในวันนี้ ผมขอยืนยันว่า เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในการต่อต้านกัญชาที่ไร้กฎเกณฑ์ควบคุม
การปลดล็อค “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติด เกิดจากพรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขการต่อต้านจะดำเนินการต่อไป ไม่มีวันถอย แม้จะนำกฎหมายมาปิดปากผม
แต่ความจริงคือ ความร้ายแรงมาจากใคร? พรรคใด? ประชาชนย่อมรู้อยู่แก่ใจ
งานนี้ทางด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า เจ้าหน้าที่ศาลได้นำหมายห้าม ไปส่งให้นายชูวิทย์ แล้ว หลังจากเมื่อวานนี้พรรคภูมิใจไทย มอบอำนาจให้ตนยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่ง กรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กระทำละเมิดต่อ พรรคภูมิใจไทย ในการแพร่ข่าว ไขข่าว ฝ่าฝืนต่อคความเป็นจริงทำให้พรรคเสียหาย เป็นการฟ้องละเมิดและเรียกค่าเสียหาย และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว และไต่สวนฉุกเฉิน ห้ามมิให้นายชูวิทย์ ดำเนินการตามที่ถูกฟ้อง คือการกล่าวหาบิดเบือน กับพรรคภูมิใจไทย
ซึ่งเมื่อวาน หลังจากคณะตุลาการพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องเป็นการร้อง ห้ามมิให้พูด อาจจะเป็นการฟ้อง ซึ่งอาจจะเป็นผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำร้องไม่เป็นการเฉพาะเจาะจง เป็นการยื่นคำร้องทั่วไป จึงยกคำร้อง แต่วันนี้พรรคภูมิใจไทย ได้ไปยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ขอไต่สวนฉุกเฉิน อีก และมีการไต่สวนจนเสร็จสิ้นเมื่อช่วงบ่าย ออกมาดังนี้
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน หลายสาขา ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งใช้เครื่องกระจายเสียงประกาศข้อเท็จจริงต่างๆ ตามคําฟ้องในที่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า โจทก์มีนโยบายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสมาชิกของโจทก์ไม่เหมาะสมที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งข้อเท็จจริง ตามที่จําเลยกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายต่อบุคคลทั่วไปนั้น ยังมิได้มีการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงตามที่จําเลยกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเป็นการกระทําซ้ำ และกระทําต่อไป ซึ่งการที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจําเลยกระทําละเมิด
เมื่อพิจารณาคําฟ้องของโจทก์ประกอบกับภาพและเสียงของจําเลยที่บันทึกไว้โดยแผ่นดีวีดีท้ายคําฟ้อง และวัตถุพยานหมาย วจ.1 แล้ว ได้ความว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 จําเลยกล่าวต่อบุคคลทั่วไปโดยมีข้อความว่า “ไม่เอาภูมิใจไทย ไม่เอาพรรคบ้ากัญชา” ประกอบกับจําเลยได้ใช้ป้ายแสดงข้อความว่า “พรรคขายกัญชา เยาวชนติดกัญชาเพราะมึง” ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึงโจทก์
แม้จําเลย จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมาย แต่การกระทําดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์หรือเสียหายแก่ทางทํามาหาได้ หรือทางเจริญของโจทก์ เห็นว่าฟ้องโจทก์มีมูล และมีเหตุผลเพียงพอที่จะนําวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับ
สําหรับคําขอให้ศาลมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยห้ามมิให้จําเลยกระทําด้วยประการใดๆ ในการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนเลือกโจทก์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เห็นว่า การกระทําดังกล่าวมีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้โดยเฉพาะแล้ว ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 โดยเป็นพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญา ศาลไม่จําต้องมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวอีก
ส่วนกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยกล่าว หรือแสดงการกระทําด้วยวิธีใดๆ
เกี่ยวกับเรื่องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เกี่ยวข้องกับโจทก์นั้น ตามพยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนไม่ปรากฏว่าภายหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จําเลยได้กระทําซ้ำ หรือกระทําต่อไป โดยการกล่าวหรือแสดงการกระทําด้วยวิธีใดๆ เกี่ยวกับเรื่องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เกี่ยวข้องกับโจทก์อีก จึงไม่จําต้องมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวในส่วนนี้
จึงมีคําสั่งห้ามจําเลยกล่าว หรือแสดงการกระทําด้วยวิธีใดๆ เฉพาะเรื่องกัญชาที่เกี่ยวข้อง
กับโจทก์ในระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน เสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 (2) คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก