ชมภาพ "เลียงผา" อวดโฉมที่จุดชมวิวผาเดียวดาย เขาใหญ่
"เลียงผา" เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย มีรูปร่างคล้ายแพะ ลำตัวสั้น ขายาว ขนยาวสีดำอาจมีสีขาวแซม มีขนแผงคอด้านบนยาวและแข็งพาดผ่านจากหัวไปถึงโคนหาง พบได้ไม่บ่อยนักในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
31 พฤษภาคม 2566 ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณจุดชมวิว ผาเดียวดาย ที่เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 500 เมตร ที่ใช้ระยะเวลาในการเดินจากจุดเริ่มต้นมาจนถึงผา เป็นระยะเวลา 30-35 นาที โดยเส้นทางนี้นักท่องเที่ยวจะได้เห็นความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของป่าดงดิบ พืชเมืองหนาว พืชพรรณหายาก ความซับซ้อนของธรรมชาติ และสัตว์ป่า รวมถึงจุดสำคัญคือทิวทัศน์ที่สวยงงามบนหน้าผาเดียวดาย
ขณะที่วันนี้ถือเป็นโชคดีของนักท่องเที่ยวที่ได้พบกับเลียงผา เพศผู้ โตเต็มวัย ออกมานอนรับแสงแดดอ่อน ๆ ในป่าข้างทางเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาเดียวดาย โดยไม่มีท่าทีตื่นกลัวนักท่องเที่ยว ที่เดินผ่านไปมา ด้วยลักษณะตัวที่มีสีดำ ที่กลมกลืนไปกับป่า นักท่องเที่ยวต้องใช้การสังเกตถึงจะรู้ว่ามีเลียงผานอนอยู่ แม้ว่านักท่องเที่ยวจะพบเห็นและถ่ายรูป เจ้าเลียงผาตัวนี้ก็ไม่มีท่าทีจะหนีหายไปอย่างใด
สำหรับเลียงผา หรือ เยียงผา หรือ โครำ เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย มีรูปร่างคล้ายแพะ ลำตัวสั้น ขายาว ขนยาวสีดำอาจมีสีขาวแซม มีขนแผงคอด้านบนยาวและแข็งพาดผ่านจากหัวไปถึงโคนหาง แต่จะเห็นยาวชัดเจนตั้งแต่หัวถึงกลางหลัง กะโหลกด้านหน้าแบน หูใหญ่ตั้ง มีเขาเป็นรูปกรวยเรียว โค้งไปทางข้างหลังเล็กน้อย โคนเขาหยักเป็นลอน มีต่อมน้ำตาอยู่ใต้ตา ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างสารกลิ่นฉุนเพื่อใช้ในการทำเครื่องหมายประกาศอาณาเขต หางสั้นและเป็นพู่ ชอบอาศัยอยู่บนภูเขา ตามลำพัง ปีนป่ายและกระโดดไปตามหน้าผาชันได้อย่างคล่องแคล่ว มีนิสัยหวงถิ่น มีจุดถ่ายมูลประจำ มักหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งพักผ่อน ชอบหากินตอนเย็นและตอนเช้า กินหญ้า เฟิร์น ใบไม้และยอดอ่อน ตอนกลางวันจะหลบอยู่ในพุ่มไม้หรือใต้ชะง่อนหิน พบได้ไม่บ่อยนักในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่เอเชียใต้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อินโดนีเซีย จนถึงเอเชีย ตะวันออก เช่น จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น โดยมักอยู่ตามหน้าผาหรือภูเขาสูง หรือตามเกาะต่าง ๆ กลางทะเล มีความสามารถในการปีนป่ายที่สูงชันได้อย่างคล่องแคล่ว โดยสามารถทำความเร็วในการขึ้นที่สูงได้ถึง 1,000 เมตร ด้วยเวลาเพียง 15 นาที
เลียงผา ถือเป็นสัตว์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดในวงศ์ย่อยนี้ โดยปรากฏมาตั้งแต่ยุคไพลโอซีน ราว 2-7 ล้านปีมาแล้ว ถิ่นอาศัย ชอบอาศัยอยู่ตามภูเขาซึ่งปกคลุมด้วยป่าทึบ และพบเลียงผาอาศัยอยู่บริเวณหน้าผากับยอดเขาที่ระดับความสูง 1,000 เมตร ในป่าเบญจพรรณ โดยทั่วไปแล้วเลียงผาสามารถอาศัยอยู่ได้ในบริเวณที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 200 ไปจนถึงที่ระดับ 2,200 เมตร