กรมบัญชีกลาง ปรับขึ้นเงินเดือนพิทักษ์ป่า หลังจากไม่ได้ปรับขึ้นมา 11 ปี
เรียกว่าเป็นข่าวดีครั้งใหญ่ สำหรับเจ้าหน้าพิทักษ์ป่า หลังจากไม่ได้ปรับขึ้นมา 11 ปี ได้รับการขึ้นเงินเดือน จาก 9,000 บาท เป็น 11,000 จำนวน 13,419 อัตรา
กรมบัญชีกลางอนุมัติ! ปรับขึ้นเงินเดือนพิทักษ์ป่า หลังจากไม่ได้ปรับขึ้นมา 11 ปี
กรมบัญชีกลางอนุมัติ ขึ้นเงินเดือนพิทักษ์ป่าผ่านด่านแรก ลุ้นสำนักงบประมาณสนับสนุนต่อ
ทางด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่ได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า จำนวน 13,419 อัตรา จาก 9,000 บาท เป็น 11,000 บาท ต่อเดือน หลังจากมีการปรับอัตราค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 นั้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 กรมบัญชีกลางมีหนังสือตอบกลับมาว่าอนุมัติให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 13,419 อัตรา ให้ไม่เกิน 11,000 บาท ต่อเดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ กรมอุทยานฯ เตรียมประสานสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้การขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่านั้น เนื่องจากสภาพของเศรษฐกิจในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้อัตราค่าครองชีพสูงขึ้น และค่าตอบแทนที่กรมบัญชีกลางอนุมัติให้กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ในอัตราไม่เกิน 9,000 บาท ตั้งแต่ปี 2555 นั้น ระยะเวลาได้ล่วงเลยมา 11 ปี แล้วจึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะภารกิจของกรมอุทยานฯ นั้น ต้องออกไปลาดตระเวนและพักแรมในพื้นที่ป่าทุรกันดารตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน มีความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดแก่สุขภาพจากสัตว์มีพิษ เชื้อโรค และภัยอันตรายต่างๆ ที่มีอยู่ในป่า รวมถึงอันตรายจากผู้กระทำผิดในป่าที่มุ่งร้ายต่อเจ้าหน้าที่อีกด้วย
การจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เป็นราษฎรในท้องถิ่นผู้มีความรู้ความสามารถมีความชำนาญในสภาพภูมิประเทศ มีทักษะในการเดินป่าเพื่อร่วมปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรของชาติในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ รวมกว่า 73 ล้านไร่.