ผู้รอดชีวิต เผยข้อมูล เรือดำน้ำไททัน หลังหวิดเป็นรายที่ 6 ทัวร์ดูซากไททานิค
คริส บราวน์ (Chris Brown) นักสำรวจมากประสบการณ์ ผู้รอดชีวิตหวิดเป็นรายที่ 6 โศกนาฏกรรม ดูซากเรือไททานิค แม้ใจรักการผจญภัย แต่ต้องขอบาย
กลายเป็นเรื่องที่หลายคนแห่จับตา กรณี เหตุการณ์ของ เรือดำน้ำไททัน (TITAN) ที่พา 5 มหาเศรษฐีระดับโลกไปชมซากไททานิค (Titanic) ที่นอนจมก้นมหาสมุทรแอตแลนติกลึกไปประมาณ 3,800 กิโลเมตร มากกว่า 110 ปี ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญว่า ผู้ที่อยู่ในเรือลำดังกล่าวเสียชีวิตหมดแล้ว ล่าสุดในผู้รอด 1 เดียว ที่หวิดเป็นรายที่ 6 โศกนาฏกรรม ดูซากไททานิค ออกมาพูดแล้ว
สำหรับ เรือดำน้ำไททัน ได้ถูกสร้างขึ้น โดย โอเชียนเกต เอ็กซ์พิดิชันส์ (OceanGate Expeditions) มีความยาว 6.7 เมตร สูง 2.5 เมตร ตัวเรือทำจากคาร์บอนไฟเบอร์และไททาเนียม น้ำหนัก 10.4 ตัน มีเครื่องยนต์ 4 ตัว ทำความเร็วได้สูงสุด : 3 น็อต (5.5 กม./ชม.) และสามารถดำลงไปใต้น้ำได้ลึกถึง 4,000 เมตร ซึ่งในความลึกนี้เพียงพอที่จะลงไปสำรวจซากเรือไททานิคได้ แต่ทว่าความปลอดภัยของตัวเรือ กลับมีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนหลายครั้ง
ในขณะที่มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในเรือดำน้ำไททันลำนั้นจริงๆ แล้วต้องมี คริส บราวน์ (Chris Brown) นักสำรวจมากประสบการณ์ขึ้นไปด้วย แต่เขายกเลิกทริปและเขายังเสริมอีกว่า เรือดำน้ำเหมือนถูกสร้างอย่างเร่งรีบ ด้วยเหตุผลเหล่านี้เขาจึง ตัดสินใจทิ้งเงินมัดจำ เป็นจำนวนเงินราว 110,000 ดอลลาร์ หรือเทียบเป็นเงินไทยประมาณ 3,873,485 บาท
คริส บราวน์ อธิบายต่อว่าเรือใช้ท่ออุตสาหกรรมมาทำตัวถ่วงน้ำหนักเรือ (หรือที่ภาษาไทยเราเรียกอับเฉาเรือ เอามาถ่วงเรือเพื่อเพิ่มน้ำหนักช่วยในการทรงตัว) แล้วก็ใช้จอยสติ๊กมาแทนคันบังคับเรือ ยังมีสายไฟที่หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ D.I.Y. อีกทั้งห้องโดยสารเล็กและแออัด ซึ่งเขาไม่พอใจกับการออกแบบบางส่วน เช่น Thruster ที่เขาไม่ชอบใบพัดเรือที่มีสายเคเบิลระโยงระยาง ซึ่งดูเป็นอุปสรรคและเสี่ยงอันตรายมาก
บราวน์ เล่าต่อไปว่า ตอนที่เขาเห็นเรือนั้นยังไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก แต่สิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจยอมทิ้งมัดจำก้อนโตไปก็คือ โอเชียนเกต ไม่มีความคิดจะเอาใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัย อีกทั้ง ตอนทดลองเรือไททัน เคยถูกฟ้าผ่าด้วย นั่นทำให้ไฟของเรือพังหมด ซึ่งบราวน์รู้ว่าเรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ตอนทดสอบ
แต่มันทำให้เขาตัดสินใจถามออกไปว่าเรือไม่มีระบบไฟฟ้าสำรองเหรอ เพราะว่ามันเป็นปกติของเรือทุกแบบที่จะมีพลังงานสำรองเอาไว้ในกรณีฉุกเฉิน ปกติมันต้องมีสำรองถึง 2 อันด้วย คือ 2 อันที่ระบบวงจรแยกกันด้วยนะเพราะถ้าวงจรแรกดับ อันที่สองยังทำงานได้และความจริงที่ว่าฟ้าผ่าลงครั้งนั้นก็ทำให้ได้รู้ว่าเรือไม่มีระบบสำรอง ด้วยเหตุผลทั้งหมดนั้นทำให้บราวน์คิดว่าเรือนี้มันเสี่ยงเกินไป
นั่นทำให้ คริส บราวน์ ตัดความกังวลเรื่องนี้ออกไปไม่ได้ ซึ่งเขารู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมอะไรได้ถ้าเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น เขาเลยยกเลิกการจองทริปไป คริส บราวน์ บอกว่า ถ้าให้พูดกันตรงๆ มันดูไม่มีความเป็นไปได้เท่าไหร่ ออกซิเจนในเรือมันต่ำมาก และสันนิษฐานได้ว่าเรือมันอยู่พื้นมหาสมุทร
หรืออาจจะลอยอยู่บนผิวน้ำก็ได้ แต่มันไม่สามารถส่งสัญญานสื่อสารได้ซึ่งนั่นก็เป็น ปัญหาหนึ่งของเรือ แต่ปัญหาหลักสำหรับ บราวน์คือผู้โดยสารเปิดประตูเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามันอยู่บนผิวน้ำยังไงก็มีปัญหาเรื่องออกซิเจนไม่พออยู่ดี
นอกจากนี้ คริส บราวน์ ยังพูดถึง "ฮามิช ฮาร์ดิง" (Hamish Harding) เศรษฐีนักผจญภัยชาวอังกฤษที่ลงไปกับเรือลำนั้น เล่าว่าเขาเป็นคนมีเป้าหมายชัดเจน เป็นคนมีสติมากๆ เป็นผู้นำที่สุขุมและสามารถลดความกังวลของคนรอบข้างได้ ทั้งยังฉลาดมากๆ ด้วย ซึ่ง คริส บราวน์ จะไม่สงสัยเลยถ้าเสียงเคาะนั้นเป็นฝีมือของ ฮาร์ดิง เศรษฐีอังกฤษ เพราะเขาฉลาดรับมือกับปัญหามาก
จากโศกนาฏกรรมสุดสะเทือนใจดังกล่าว คริส บราวน์ เผยกับซีเอ็นเอ็นว่า ตัวเขาเองนั้นก็ไม่ได้รู้สึกยินดีที่รู้ว่ารอดพ้นจากการเดินทางที่อาจถึงแก่ชีวิตดังกล่าวนี้ ท่ามกลางการไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย
อย่างไรก็ตาม สำหรับ คริส บราวน์ เป็นนักผจญภัยนักสำรวจที่ไปพื้นที่เสี่ยงภัยมาหลายครั้งแล้ว จนขึ้นชื่อได้ว่าเป็นนักผจญภัยเบอร์ต้นๆ ของโลก แต่ครั้งนี้เขาไม่ยอมไปกับเรือดำน้ำไททัน และนี่ก็เป็นเสี้ยวนาทีที่เขาตัดสินใจทั้งๆ ที่รักการผจญภัยมาก ทำให้เขารอดชีวิตมาได้
ภาพจาก OceanGate Expeditions