เปิดเงินเดือน กกต. หลังยื่นคำร้องส่งศาล สั่ง “ทิม พิธา” หยุดทำหน้าที่ สส.
เปิดเงินเดือน คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. หลังยื่นคำร้องส่งศาล สั่ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ปมถือหุ้นสื่อไอทีวี
กรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมพิจารณา สถานะความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าสมาชิกภาพสส.ของ นายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ( 6 ) ประกอบมาตรา 98 ( 3) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท itv จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น โดยศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณานานกว่า 2 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 9:30 น. ที่ผ่านมา
ต่อมาในโลกออนไลน์ได้มีหลายคนได้การพูดถึง การทำงานของ กกต. และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก โดย กกต. ชุดปัจจุบันทั้ง 5 คน ประกอบไปด้วย
1.นายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
2.ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
3.นายปกรณ์ มหรรณพ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
4.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
5.ดร.ฐิติเชษฐ์ นุชนารถ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
กกต. ชุดปัจจุบัน มาจากไหน?
คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระ ผู้ที่มีหน้าที่ในการสรรหา คัดเลือก ตัวแทนของประชาชนชาวไทย ในการเป็นผู้ควบคุม รับสมัคร คัดกรองประวัติประชาชนที่มีความสามารถ มาดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เพื่อรวบรวมเสียงของประชาชนในการหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น มาบริหารประเทศ โดยคำนึงถึงเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริต มีความเที่ยงธรรม
โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน ดำรงวาระมาแล้วทั้งสิ้น 2 สมัย ในปี 2562 และ 2566 ซึ่งกระบวนการสรรหาเกิดขึ้นในปี 2561 โดยคณะกรรมการการสรรหาที่ประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนจากฝ่ายการเมือง ประธานรัฐสภาฯ และองค์กรอิสระ
สำหรับคุณสมบัติหลักของการเป็น กกต. คือ ต้องไม่เป็นข้าราชการมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ก็ตามในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหากำไร หรือรายได้แบ่งปันกัน หรือเป็นลูกเจ้าของบุคคลใด และจะต้องไม่ประกอบวิชาชีพอิสระใด ๆ
อำนาจหน้าที่ของ กกต. รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ระบุอำนาจของ กกต. ไว้ดังนี้
- กกต. มีหน้าที่ดำเนินการจัดหา และการเลือกตั้งเพื่อคัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
- กกต. มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างยุติธรรม มีหน้าที่สอบสวน และไต่สวนการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม
- กกต. สามารถระงับ ยับยั้ง แก้ไข และยกเลิกการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตในพื้นที่นั้น ๆ ได้
- กกต. สามารถระงับสิทธิของผู้สมัครเลือกตั้งได้ 1 ปี หากพบการทุจริตการเลือกตั้ง
- กกต. มีหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมือง
- กกต. มีหน้าที่ และอำนาจอื่น ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายกำหนด
โดยราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ของประธานและกรรมการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2561 ไว้ว่า
- ประธานกรรมการเลือกตั้ง : เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมทั้งสิ้น 131,920 ต่อเดือน
- กรรมการการเลือกตั้ง : เงินเดือน 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมทั้งสิ้น 123,040 ต่อเดือน
- สวัสดิการ : รถยนต์ประจำตำแหน่งของผู้บริหารของคณะกรรมการการเลือกตั้ง