ค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทยตัวที่ 13 อายุ150ล้านปี
เปิดตัวไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ของประเทศไทย “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) อายุ150 ล้านปี
26 ก.ค.66 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยสารคาม ได้มีการจัดแถลงข่าวผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซอส” ถือเป็นไดโนสาร์สายพันธุ์ไทยตัวแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทยและเป็นสายพันธ์ของโลก มีชื่อว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซอส” ถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธ์ุ ตั้งแต่ช่วงปี 2555 เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก สูงประมาณ 60 เซนติเมตร จัดอยู่ในกลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนก พบในหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี
นอกจากนี้แล้วในบริเวณแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ยังมีการขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังอีกหลายชนิดกว่า 5,000 ชิ้น รวมทั้งไดโนเสาร์ทั้งสายพันธุ์กินพืช-กินเนื้อ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ถึง 8 สายพันธุ์ ทำให้ภูน้อยได้รับการขนานนามว่าเป็น “จูแรสซิกพาร์ค เมืองไทย” ที่มีการขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับความหมายของ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” มินิโมในภาษาละตินแปลว่า ขนาดเล็ก เคอร์เซอร์ในภาษาละตินแปลว่า รวดเร็วหรือว่องไว เอนซิสในภาษาละตินแปลว่า พบที่หรือมาจาก ทำให้ มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส มีชื่อตามความหมายภาษาไทยคือ "นักวิ่งตัวจิ๋วแห่งภูน้อย"