"หมอธีระวัฒน์" เปิดข้อมูลเตือน ยิ่งกินยาแก้ปวดหัว ยิ่งจะปวดหัว
"หมอธีระวัฒน์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา โพสต์ข้อความเปิดข้อมูลในหัวข้อ ยิ่งกินยาแก้ปวดหัว ยิ่งจะปวดหัว ใครชอบกินบ่อย ๆ ต้องอ่าน
"หมอธีระวัฒน์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับ อาการปวดหัว และการกินยาแก้ปวด ระบุผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เผยว่า
ยิ่งกินยาแก้ปวดหัว ยิ่งจะปวดหัว
เราทุกคนอาจเคยปวดศีรษะสักครั้งหนึ่งของชีวิต ซึ่งเวลาปวดศีรษะเราก็จะกินยาแก้ปวดที่มีติดไว้ประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล หรือไปซื้อยาตามร้านขายยามารับประทาน ยาแก้ปวดเหล่านี้ปลอดภัยหรือไม่ แล้วจริงๆยาแก้ปวดเหล่านี้รับประทานบ่อยๆ หายปวดทุกครั้งหรือไม่ และทำให้ปวดศีรษะได้มากกว่าเดิมจริงหรือไม่
...เป็นที่ทราบกันดีว่า ยาแก้ปวดที่เรารับประทาน ไม่ได้ปลอดภัยเสียทีเดียวหากรับประทาน “มากเกินไป” ไม่ว่าจะเป็นพาราเซตามอลที่มีผลต่อตับ ยากลุ่ม NSAID (เช่น ibuprofen, naproxen ฯลฯ) ก็เป็นพิษต่อไต และทำให้มีแผลในกระเพาะอาหารจนเลือดออกได้
หรือแม้แต่ยากลุ่ม ergot ที่เราพบกันในข่าวสารว่าสามารถทำให้มือหรือเท้าขาดเลือดถึงขั้นต้องตัดมือตัดเท้า อีกทั้งยาแก้ปวดศีรษะเหล่านี้ ถ้าใช้มากเกินไปหรือถี่เกินไปยังกลับทำให้อาการปวดศีรษะมากขึ้นกว่าเดิม อาการปวดศีรษะแบบนี้เรียกได้ว่า “โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น (Medication overuse headache)” หรือ “MOH”
โรค MOH คืออะไร และใครที่มีโอกาสเป็นโรค MOH บ้าง?
โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น (MOH) มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคปวดศีรษะเป็นประจำอยู่เดิม (เช่น โรคไมเกรน) และรับประทานยาแก้ปวดมากเกินไปจนทำให้อาการปวดศีรษะที่มีความถี่มากขึ้น หรือมีลักษณะอาการปวดศีรษะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สำหรับคำว่า “มากเกินไป” หรือ “มากเกินความจำเป็น” นั้น พบว่าหากเป็นยากลุ่มพาราเซตามอล หรือยากลุ่ม NSAID มักหมายถึงการใช้ยาตั้งแต่ 15 วันต่อเดือนขึ้นไป แต่หากเป็นยาแก้ปวดกลุ่มอนุพันธุ์ของฝิ่น (opioid), ยากลุ่ม ergot หรือยากลุ่ม triptan จะหมายถึงการใช้ยาตั้งแต่ 10 วันต่อเดือนขึ้นไป
นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจะสังเกตอาการเพิ่มเติมได้ง่ายๆ ว่ามีความเสี่ยงจะเกิดโรค MOH โดยผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวดแล้วออกฤทธิ์สั้นลง หรือรับประทานแล้วไม่หายปวดศีรษะ
ทำไมยาแก้ปวดถึงทำให้ปวดศีรษะมากกว่าเดิมได้?
สำหรับกลไกการเกิดโรค MOH นั้น โดยสรุปแล้วเชื่อว่าเกิดจากการที่ใช้ยาแก้ปวดจำนวนมากเป็นระยะเวลาพอสมควร จะทำให้สมองกลับมีการสร้างตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อระดับยาแก้ปวดลดลงจะทำให้สมองเกิดความไวต่อความเจ็บปวดมากขึ้นโดยอัตโนมัติแม้ไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ
โรค MOH รักษาอย่างไร และเราจะต้องใช้ยาแก้ปวดอย่างไรให้ปลอดภัยและไม่ให้เกิดโรค MOH?
การรักษา MOH มีหลักการง่ายๆ คือการหยุดยาแก้ปวดที่ทำให้เกิด MOH รวมถึงไปพบแพทย์ เพื่อรักษาโรคปวดศีรษะเดิมให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม หลักการที่ว่าง่ายนั้นในโลกความเป็นจริงกลับทำได้ยาก เนื่องจากการหยุดยาแก้ปวดมักจะทำให้ผู้ป่วยต้องทรมานจากอาการปวดอยู่ช่วงหนึ่ง
เพราะฉะนั้นจะเป็นการดีกว่าหากเราป้องกันไม่ให้เกิด MOH ตั้งแต่ต้น โรค MOH นี้สามารถป้องกันได้ง่ายมากเพียงใช้ยาแก้ปวดให้ถูกต้องและเหมาะสม เช่น ในผู้ป่วยโรคไมเกรนควรใช้ยาแก้ปวดขณะที่มีอาการปวดเท่านั้น และใช้ยาแก้ปวดตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะแต่ละครั้ง ที่สำคัญที่สุดคือหากผู้ป่วยโรคไมเกรนมีอาการปวดศีรษะมากขึ้นหรือถี่ขึ้นอย่างผิดสังเกต ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้ยาแก้ปวดมากจนใกล้เคียงกับปริมาณที่ทำให้เกิด MOH ได้ (ดังกล่าวข้างต้น) จะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโรคไมเกรนอย่างถูกต้องโดยการใช้ “ยาควบคุมหรือยาป้องกันอาการปวดศีรษะ” ซึ่งเป็นยาคนละแบบกันกับยาแก้ปวด การใช้ยาควบคุมอาการปวดศีรษะนี้จะช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของการปวดศีรษะได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวดมากนั่นเอง นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความถี่ของอาการปวดศีรษะเดิม เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงปัจจัยการกระตุ้นที่ให้ปวดศีรษะ ก็มีความสำคัญเช่นกัน
การที่โรค MOH ไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อาจเป็นสาเหตุรากเหง้าที่ทำให้ผู้ป่วยหลายคนใช้ยาแก้ปวดมากเกินโดยไม่รู้มาก่อนว่าจะทำให้ปวดศีรษะรุนแรงกว่าเดิมได้ ดังนั้นในปีนี้ โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ถึงความตระหนักในโรคปวดศีรษะโดยเฉพาะโรคปวดไมเกรน ทางชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะฯ จึงวางแผนรณรงค์ให้เกิดความตระหนักในโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น (MOH) ไปพร้อมๆกัน โดยมี สโลแกนง่ายๆ คือ “More pills, More pain” หรือ “ยิ่งกินยา ยิ่งปวดหัว” เพื่อให้ประชาชนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ให้รู้จักและตระหนักถึงโรค MOH มากขึ้น
นพ.ประกิต อนุกูลวิทยา และ ผศ.นพ.เสกข์ แทนประเสริฐสุข อายุรแพทย์ระบบประสาท คลินิกโรคปวดศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประธานฝ่ายพัฒนาการศึกษา และประธานฝ่ายวิจัย ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย.