อ.เจษฎา ตอบชัด ดื่มน้ำมากเกินไป เป็นอันตรายเสี่ยงเสียชีวิตได้
อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ตอบชัด ดื่มน้ำมากเกินไป ก็เป็นอันตราย จากภาวะน้ำเป็นพิษ พร้อมแนะปริมาณน้ำที่เหมาะสม
อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ถึงประเด็น "ดื่มน้ำมากเกินไป ก็เป็นอันตราย จากภาวะน้ำเป็นพิษได้ครับ" ระบุว่า
มีคำถามหลังไมค์มาว่า "จริงไหมครับจารย์ ที่มีคนดื่มน้ำเยอะแล้วสมองบวมเสียชีวิต น่ากลัวมาก ไม่กล้ากินน้ำเยอะแล้วครับ" !? .... คือมันเป็นไปได้จริงนะครับ ที่การดื่มน้ำมากไป โดยเฉพาะเวลาที่ออกกำลังกายหนักหรืออยู่ในที่อากาศร้อนจัดมานานๆ จะน้ำที่ดื่มเข้าไปมากนั้น ไปทำให้ระดับของเกลือแร่และสารเคมีในเลือดเจือจางกว่าที่ควรตามปรกติ รวมถึงทำให้อวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ไต ทำงานผิดปรกติด้วย ... แต่ว่าต้องดื่มน้ำ "มากเกินไป" ถึงจะเป็นอันตรายครับ
ซึ่งเรื่องนี้จะขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย แต่โดยคร่าวๆ แล้ว ผู้ชายควรดื่มน้ำไม่เกิน 3.7 ลิตรต่อวัน ขณะที่ผู้หญิงควรดื่มน้ำไม่เกิน 2.7 ลิตรต่อวัน และควรจิบน้ำทีละน้อยตลอดทั้งวัน ไม่ใช่ดื่มน้ำทีละมากๆ ในเวลาสั้นๆ ดังที่เคยเป็นข่าวคนเสียชีวิต เพราะการรับน้องด้วยการให้ดื่มน้ำเป็นถังๆ มาแล้ว
ตามรายงานข่าว (คลิก) อ้างอิงเรื่องราวในเพจ “World Forum ข่าวสารต่างประเทศ” ที่โพสต์เรื่องราวน่าเศร้าของครอบครัวหนึ่ง ที่ประเทศสหรัฐฯ รัฐอินเดียนา โดยคุณแม่ลูกสอง วัย 35 ปี ชื่อว่า แอชลีย์ ซัมเมอร์ส และครอบครัว ใช้เวลาช่วงวันหยุดพักร้อน ไปเที่ยวที่ทะเลสาบฟรีแมน ใกล้กับเมืองมอนติเซลโล ในช่วงวันเสาร์ - อาทิตย์
แต่ในวันนั้น อากาศที่สหรัฐ ร้อนถึง 33 องศาเซลเซียส ขณะที่ครอบครัวของเธอเดินเที่ยวอยู่ แอชลีย์ก็รู้สึกหิวน้ำผิดปกติ เธอจึงดื่มน้ำเข้าไปถึง 4 ขวด ซึ่งเป็นประมาณเกือบๆ 2 ลิตร ในระยะเวลาสั้นๆ แค่ 20 นาที ต่อมา เธอเริ่มรู้สึกหน้ามืดและปวดหัวมาก เมื่อกลับมาถึงบ้าน แอชลีย์มีอาการมึนงงและสลบลงไปกับพื้นโรงรถของบ้านเธอ
ครอบครัวของเธอจึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยเธอไม่รู้สึกตัวแม้แต่นิดเดียว ซึ่งจากการตรวจร่างกายของแพทย์ ระบุว่า เธอมีอาการสมองบวม จากภาวะน้ำเป็นพิษ และในเวลาต่อมาแพทย์ได้แจ้งว่าเธอเสียชีวิต
ซึ่งแพทย์ได้มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไต สามารถรับน้ำได้เต็มที่คือ 1 ลิตร/1 ชั่วโมง นอกจากนั้นหากคุณดื่มน้ำมากๆ และมีอาการปวดหัว คลื่นใส้ เหมือนเมาน้ำ ให้รีบนำตัวมาพบแพทย์โดยด่วน
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ จึงอยู่ที่ว่า ถึงแม้ว่าน้ำจะดีต่อร่างกาย แต่หากดื่มเยอะจนเกินไป ก็เป็นผลเสียด้วยเช่นกัน ... เลยขอเอาข้อมูลเกี่ยวกับ "ภาวะน้ำเป็นพิษ" ของโรงพยาบาลเพชรเวช มาเผยแพร่นะครับ
การดื่มน้ำเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่บางครั้งสภาพอากาศที่ร้อนจนเกินไป บางทีอาจเผลอดื่มน้ำมากเกินไป ผลเสียจึงเกิดกับสุขภาพ เพราะว่าไตจะทำงานหนักมากขึ้น ในการขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย หากมีปัญหาเกี่ยวกับไตอยู่แล้ว จะยิ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งร่างกายยังสามารถเกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้
ดื่มน้ำมากเกินไปจะเกิดผลเสียอย่างไร
1. โซเดียมต่ำกว่าปกติ : ค่าปกติของโซเดียมในร่างกายนั้นจะอยู่ที่ 135-145 mEg/L. แต่ถ้าหากดื่มน้ำมากเกินไปร่างกายเสียสมดุล โดยค่าของโซเดียมนั้นจะอยู่ต่ำกว่า 135 mEq/L นี่คือภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
อาการของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ มักจะมีอาการสับสนเพียงเล็กน้อย หรือการเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ หากมีอาการรุนแรงจะมีความรู้สึกง่วงนอน และไม่รู้สึกตัวในที่สุด
2. เซลล์บวม : ในร่างกายของมนุษย์จะมีโซเดียม และโพแทสเซียมไอออนที่ทำหน้าที่เป็นอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย และรักษาสมดุลของเหลว ระหว่างเซลล์ และเลือด
หากดื่มน้ำมากเกินไปน้ำก็จะเข้าไปในเซลล์ ทำให้เซลล์บวมมากขึ้น จะมีอาการปวดศีรษะ ชัก และไม่รู้สึกตัว มีความเสี่ยงในการเสียชีวิต
3. กล้ามเนื้อเป็นตะคริว : เมื่อร่างกายเสียสมดุลจากการดื่มน้ำมากเกินไป กล้ามเนื้อจะเกิดการหดเกร็ง และเป็นตะคริวในที่สุด
4. ไตทำงานหนัก : หากดื่มน้ำครั้งละมากๆ ไตจะกรองน้ำส่วนเกินออกจากเลือดอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรัง และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
5. หัวใจทำงานหนัก : เมื่อดื่มน้ำเข้าไปในร่างกาย ลำไส้เล็กจะทำการออสโมซิส (Osmosis) น้ำไปในกระแสเลือด เมื่อปริมาณน้ำเข้าสู่ร่างกายเยอะ ปริมาตรเลือดก็เพิ่มสูงขึ้น หัวใจจึงต้องทำงานหนัก สามารถเกิดอาการชักได้
6. โพแทสเซียมต่ำกว่าปกติ : เมื่อได้รับน้ำมากเกินไป ทำให้ระดับของโพแทสเซียมในร่างกายต่ำลง ทำให้ความดันโลหิตต่ำ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตได้
7. เหนื่อย อ่อนเพลีย : หากไตทำงานหนักขึ้น ร่างกายจะมีความรู้สึก อ่อนเพลีย และเหนื่อยได้เช่นกัน
อาการที่เกิดขึ้นหากดื่มน้ำมากเกินไป
- ไตไม่สามารถขับน้ำออกไปได้หมด จะเกิดอาการดังนี้ : คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย
- เมื่อเซลล์เกิดการบวมน้ำ จะเกิดอาการดังนี้ : สับสน มึนงง ปวดศีรษะ ง่วงซึม ริมฝีปาก มือ และเท้า มีอาการบวม
- ระดับแร่ธาตุในร่างกายลดลงผิดปกติ จะเกิดอาการดังนี้ : เกร็งของกล้ามเนื้อหรือตะคริว เกิดอาการชัก สูญเสียการรับรู้ การเสียชีวิตได้
บุคคลที่มีความเสี่ยงดื่มน้ำมากเกินไป
- ผู้ป่วยโรคไต
- ผู้ป่วย โรคหัวใจ
- นักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตอากาศร้อน
- ผู้ที่เคยใช้ยาเสพติด รวมถึงการติดแอลกอฮอล์
- ผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก
- ทารกที่ไม่ได้รับนมแม่ หรือทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดาที่ติดยาเสพติด
- ผู้ป่วยจิตเวช เช่น ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์
การดื่มน้ำให้เหมาะสมกับร่างกาย
- ผู้ชายควรดื่มน้ำไม่เกิน 3.7 ลิตรต่อวัน
- ผู้หญิงควรดื่มน้ำไม่เกิน 2.7 ลิตรต่อวัน
- ควรจิบน้ำทีละน้อยตลอดทั้งวัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำทีละมากๆ ในเวลาสั้นๆ
การปัสสาวะก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
ปกติแล้วควรปัสสาวะทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง ใน 1 วัน และสีปัสสาวะต้องเป็นสีเหลืองอ่อนๆ หากมีการปัสสาวะน้อยกว่า 3-4 ครั้ง ต่อวัน และปัสสาวะเป็นสีเข้ม แสดงว่าร่างกายได้รับน้ำน้อยจนเกินไป
หากมีการปัสสาวะมากกว่า 6 - 8 ครั้งต่อวัน และปัสสาวะมีสีใส แสดงว่าร่างกายได้รับน้ำมากเกินไป