"อ.เจษฎ์" เปิดข้อมูลล่าสุด ปมเจอตัวประหลาดในผัดไทย แล้วร้านบอกมันคือมะขาม
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ให้ข้อมูล หลังมีข่าวระบุว่า เจอตัวประหลาดในผัดไทย ก่อนร้านค้าเผย เป็นมะขาม
จากกรณี ที่มีการนำเสนอข่าว สาวรายหนึ่ง ได้ออกมารีวิวผัดไทย ที่เจ้าตัวซื้อมากิน ก่อนกัดไปเจอตัวประหลาด งานนี้บอกเลย อ้วกพุ่ง แถมร้านไม่มีการรับผิดชอบ นั้น
(อ่านข่าว สาวอ้วกพุ่ง สั่งผัดไทย กัดไปโดนตัวประหลาด ไปบอกร้าน เจอสวนแทบจุก พูดมาได้ไง)
ล่าสุด "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงเรื่องดังกล่าวระบุ
"ไม่น่าใช่มะขามแน่ๆ แต่น่าจะเป็น bristle worm หรือบุ้งทะเลชนิดหนึ่งครับ"
ซึ่งพอเอารูปมาขยายดู ก็เห็นด้วยนะครับว่าไม่ใช่มะขามแน่ๆ เพราะลักษณะของการมีลำตัวเป็นปล้องๆ และสิ่งที่ยื่นออกมาจากลำตัวนั้นก็เหมือนกับขน โดยแต่ละปล้องก็มีขน 1 คู่อยู่ด้านซ้ายและขวา ... จึงฟันธงได้ว่าไม่น่าจะใช่ "มะขาม" อย่างที่ทางร้านอ้างแน่ๆ
ที่น่าสนใจคือ มีคนมาคอมเม้นต์ประกอบอีกหลายคน ว่าเคยเจอสิ่งประหลาดที่คล้ายกันนี้ ทั้งในอาหารประเภทผัดไทย และส้มตำ โดยแม้ว่าสีสันจะต่างกันไปบ้างอันเนื่องจากการประกอบอาหาร แต่ลักษณะพื้นฐานก็คล้ายกัน คือ มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 นิ้ว ตัวแบน มีปล้องประมาณ 20-25 ปล้อง ปล้องสีออกน้ำตาลส้ม แต่ละปล้องมีขนอยู่ด้านซ้ายและขวา สีขนออกขาว สามารถมองทิศทางของตัวเป็นส่วนหัวและส่วนหางได้ แต่ไม่ได้มีหัวแยกออกมาชัดเจน
ทำให้โดยรวม คาดว่าน่าจะเป็นพวก bristle worm หรือบุ้งทะเล ชนิดหนึ่งที่น่าจะพบได้ทั่วไปในทะเล และเนื่องจากเป็นชนิดที่มีขนาดเล็ก จึงติดมากับการจับกุ้งฝอยมาทำกุ้งแห้ง หรือกับวัตถุดิบอาหารทะเล ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารที่พบบ่อยนี้ ดังเช่น ผัดไทยหรือส้มตำ
rm หรือบุ้งทะเลชนิดหนึ่งครับ"
พวกบุ้งทะเล (bristle worm) นั้นเป็นสัตว์ทะเลพวก โพลีคีท (polychaete) พวกเดียวกับแม่เพรียง แต่ลำตัวมีขนยาว และมีส่วนยื่นของร่างกายออกไปเป็นคู่ๆ ด้านข้างลำตัว คล้ายขาสำหรับช่วยว่ายน้ำ ปรกติมันจะอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล ใต้ก้อนหิน ใต้ซอกปะการัง พบมากในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูผสมพันธ์ุ
ปัญหาคือ เจ้าขนแข็งๆ ของมันนั้น จะหลุดจากตัวบุ้งทะเลได้โดยง่าย และสามารถแทงเข้าสู่ผิวหนังของคนที่ไปสัมผัส ทำให้เกิดอาการแสบคัน
หากโดนบุ้งทะเล ให้พยายามเอาขนบุ้งออกให้หมด ด้วยการล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วใช้คาลาไมน์ทาบรรเทาอาการคัน ก่อนไปพบแพทย์
ปรกติแล้ว เราไม่ค่อยได้พบบุ้งทะเลนี้บนชายหาด แต่ก็อาจจะมีได้ถ้ามันติดมากับอวนของชาวประมงที่จับสัตว์น้ำหน้าดิน จึงควรจะระมัดระวังไว้ด้วยนะ เวลาไปทะเลครับ
ตอนนี้ก็คงต้องรอให้มีผู้เชี่ยวชาญเอาตัวอย่างไปตรวจสอบ ว่าเป็น bristle worm ใช่จริงหรือไม่ และเป็นชนิดสายพันธุ์ใด มีพิษมากน้อยแค่ไหน (บุ้งทะเล มีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ ซึ่งส่วนใหญ่พวกที่มีพิษ จะเป็นชนิดที่ตัวยาวๆ ใหญ่กว่าที่พบนี้มาก)
แต่คาดว่า ไม่น่าจะทำให้อาหารที่เรากินเข้าไปนั้นจะมีพิษอันตรายอะไรครับ ไม่งั้นคงมีรายงานคนไทยป่วยจากการกินอาหารที่มี bristle worm ปนมาด้วยนี้แล้ว
ป.ล. นอกจาก bristle worm นี้แล้ว สัตว์ประหลาดอีกชนิดหนึ่งที่พบติดมากับอาหารอยู่เรื่อย ก็คือพวก isopod ไอโซพอด หรือตัวกินลิ้น ที่หน้าตาคล้ายกัน แต่ไม่ได้มีขนออกมาข้างตัว ซึ่งก็ไม่ได้เป็นพิษอันตราย แต่ก็ไม่ได้น่ากินอะไรครับ (ดูตัวอย่างที่ คลิก )
ภาพประกอบตัว bristle worm ชนิดหนึ่ง จาก คลิก