"อ.เจษฎ์" เฉลยแล้ว "แมลงยักษ์" ตัวเท่าฝ่ามือ คือตัวอะไร
"อ.เจษฎ์" เด่นดวงบริพันธ์ เฉลยแล้ว แมลงยักษ์ตัวเท่าฝ่ามือ หน้าตาและเสียงร้องเหมือนจักจั่นแต่ตัวใหญ่ผิดปกติ คือตัวอะไร
จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ มีชาวเน็ตออกมาโพสต์รูปภาพแมลงขนาดใหญ่ที่มีหน้าตาและเสียงร้องเหมือนจักจั่น แต่มีขนาดตัวใหญ่กว่าจักจั่นมาก ขนาดเกือบเท่าฝ่ามือคนเลยทีเดียว ล่าสุด "อ.เจษฎ์" เฉลยแล้ว "แมลงยักษ์" ตัวเท่าฝ่ามือ คือตัวอะไร โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ โพสต์ระบุว่า
"จักจั่นเรไร สัตว์แปลกประจำวันนี้ครับ" วันนี้ ในกลุ่มเฟซบุ๊ก Siamensis.org ที่เป็นกลุ่มพูดคุยเรื่องสัตว์ พืช และสิ่งมีชีวิต่างๆ ในประเทศไทย ได้แชร์ภาพของแมลง ที่ดูคล้ายจักจั่น แต่มีขนาดใหญ่มาก เท่าฝ่ามือของคนในรูปเลย (ดูคลิก) ซึ่งรูปดังกล่าวนี้ ได้ถูกโพสต์ไว้ในกลุ่ม งูไทย...อะไรก็ได้ all about Thailand snakes อีกทีหนึ่ง (ดูคลิก)
ซึ่งเจ้าของภาพได้เขียนแคปชั่นตั้งคำถามเอาไว้ว่า "น้องบินมาในบ้าน เสียงร้องเหมือนจั๊กจั่นเลยค่ะ น้องคือตัวอะไรหรอคะ แถวนี้เรียกแมงโตด พอไปค้นในกูเกิ้ล ไม่เจอเลยค่ะ"
คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่จากสมาชิกของกลุ่ม Siamensis.org บอกว่ามันคือตัว "จักจั่นเรไร" หรือที่ทางอีสานเรียก แมงง่วง ซึ่งจะมีตัวขนาดใหญ่กว่าจักจั่นปรกติถึง 3 เท่า
คนทั่วไปอย่างเราๆ คงจะเคยได้ยินคำว่า "หรีดหริ่งเรไร" อยู่ในสำนวนเขียนหรืออยู่ในบทกวี ซึ่งที่มานั้น คำว่า "หรีด" กร่อนมาจากคำว่า จิ้งหรีด หรือ จังหรีด / ขณะที่คำว่า "หริ่ง" หมายถึง เสียงร้องของเรไร / ส่วนคำว่า "เรไร" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามว่าคือ ชื่อจักจั่นสีนํ้าตาลหลายชนิดในสกุล Pomponia, Tosena และสกุลอื่น ๆ ในวงศ์ Cicadidae ส่วนใหญ่ตัวค่อนข้างโต ตัวผู้มีอวัยวะพิเศษทําให้เกิดเสียงสูงและตํ่ามีกังวานสลับกันไปได้หลายระดับ ชนิดที่โตที่สุดซึ่งพบได้ง่ายในประเทศไทย คือ ชนิด P. intermedia (อ้างจาก https://d.dailynews.co.th/article/010343/)
เลยขอเอาข้อมูลที่อาจารย์ จารุจินต์ นภีตะภัฏ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เคยเขียนอธิบายลักษณะของ "เรไร" และที่มาของชื่อ "แมงง่วง" ไว้ มาให้อ่านกัน ดังนี้ครับ
#เรไร (imperial cicada) เป็นแมลงกลุ่มหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์จักจั่น (Cicadidae) เช่นเดียวกับจักจั่นแม่ม่ายลองไน แมลงอื๋ ฯลฯ เป็นแมลงที่มีปากดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ และมีปีกใส มีเส้นปีกเป็นโครงร่างมากมาย ทั้งปีกคู่หน้าและปีกคู่หลัง จึงจัดอยู่ในอันดับโฮมอพเทอรา (Homoptera) ส่วนใหญ่จัดอยู่ในสกุล Pomponia ส่วนน้อยที่เหลืออยู่ในสกุล Tosena, Cryptotympana และ Platylomia ชนิดที่พบบ่อยๆ ในประเทศไทย มีชนิด Pomponia intermedia, P. fusca และ P. lactea [เข้าใจว่า ชื่อสกุล Pomponia จะเปลี่ยนเป็นสกุล Megapomponia แล้วในปัจจุบัน - อาจารย์เจษฎ์]
(อ้างอิงถึงลิงค์ http://www.tistr.or.th/.../publi.../page_area_show_bc.asp... แต่ปัจจุบันไม่อาจจะกดเข้าไปดูได้แล้ว)
เพิ่มเติมว่า ในเพจ "แมลงใกล้สูญพันธุ์" ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็มีการให้ข้อมูลเกี่ยว "จักจั่นเรไรเขียว" หรือ Megapomponia intermedia เอาไว้ด้วยดังนี้ครับ
ชื่อแมลง : จักจั่นเรไรเขียว
ชื่อทั่วไป : จักจั่นเรไรเขียว
ชื่อสามัญ : Intermediate Imperial Cicada
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Megapomponia intermedia (Distant)
ลักษณะทั่วไป : ลำตัวยาว 55-68 มิลลิเมตร หัวและอกสีเขียวสลับสีน้ำตาล ตาโปนใหญ่ สีเขียว ตาเดี่ยวที่อยู่ด้านหน้า สีแดง อกด้านบนมีแถบสีดำรูปสามง่าม ท้องสีน้ำตาลเคลือบไว้ด้วยฝุ่นแป้งสีขาว ปีกใส เส้นปีกสีเขียว ปลายปีกมีจุดสีดำเรียงกัน ขาสีน้ำตาล หนวดแบบเส้นขน ปากแบบเจาะดูด ปีกแบบ (tegmina) คล้ายแผ่นหนังบางเป็นเนื้อเดียวตลอดปีกเหนียว ไม่เปราะ ปีกคู่หลังเนื้อบางแบบ (membrane) ขาเดิน ตารวม
ถิ่นอาศัย : พบเกาะอยู่บนต้นไม้
ประโยชน์ : เป็นอาหารมนุษย์และสัตว์
(ภาพและข้อมูล จาก http://www.ilab-ubu.net/endinsects/bug_preview.php?id=253)
ขอบคุณ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์