นักวิชาการ เผยความหมาย "บทบูชาครูกายแก้ว" ไม่แปลกใจที่ต้องแลกด้วยชีวิต
นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา เปิดความหมาย "คาถาบูชาครูกายแก้ว" ไม่แปลกใจ ทำไม ริว จิตสัมผัสถึงบอกอาจแลกด้วยชีวิต
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกพูดถึงกันอย่างมาก เมื่อ "ครูกายแก้ว" ที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กัมพูชา บรมครูผู้เรืองเวทย์ด้านการประทานพรความร่ำรวย นอกจากนี้หลายคนยังตั้งคำถามว่า เหมาะสมที่จะกราบไหว้หรือไม่ เพราะรูปลักษณ์ที่มีกายสีดำ ตาแดง เล็บแดง ซ้ำยังมีปีกคล้ายการ์กอยล์
เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีเหล่าคนดังออกมาเผยถึงความลี้ลับเหนือธรรมชาติหลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับครูกายแก้ว อาทิ ริว จิตสัมผัส ได้ออกมาไลฟ์สดพูดคุยกับแฟนๆ ถึงกระแสของ "ครูกายแก้ว"
โดยความเห็นว่า "มีคนถามพี่ริวว่าคิดยังไงกับครูกายแก้วครับ มันเป็นความเชื่อส่วนบุคคลเนอะ แล้วแต่ใครจะเชื่อนะ แต่ตามความเชื่อของพี่ริว พี่ริวเน้นไหว้พระ ทำบุญ ก็พอแล้ว"
อีกทั้งช่วงตอนหนึ่ง ริว ยังบอกอีกว่า อะไรก็ตามที่ไม่ใช่พุทธลักษณะที่ควรไหว้ อย่าเอาเข้าบ้านเลย ไม่ดีเปล่าๆ เขาเรียกว่าขอได้ไหว้คืน ได้จริงนะ เขาบอกขอพระขอเจ้าได้ช้า เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประธานให้ตามบุญวาสนาที่ทำมา แต่ขอผี ไหว้ผีหรือว่าไหว้ซาตาน จะได้เร็ว แต่สิ่งที่คุณอาจจะต้องแลกมาโดยที่คุณไม่รู้ว่าจะต้องแลกด้วยอะไร อาจจะต้องแลกคนที่คุณรัก แลกด้วยชีวิต อะไรที่คุณได้มาเขาเรียกว่าขอได้ไหว้คืน ถ้ามาถามเกี่ยวกับ ครูกายแก้ว พี่ริวก็พูดได้ประมาณนี้ ไม่ได้โจมตีหรือว่าใคร พี่ริวรู้เรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยอาจารย์ท่านยังอยู่
ขณะเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา ได้พูดถึงความหมายคาถา บทบูชาครูกายแก้ว ที่พบบนฐาน ซึ่งบางที่เป็นคาถาจากฐานเดิมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นที่ถูกย้ายออกไปแล้วนำรูปปั้น "ครูกายแก้ว" ไปวางแทนที่ หรือบางที่เป็นคาถาที่เขียนขึ้นใหม่ซึ่งมีหลายแบบ โดยมีตัวอย่างคำกล่าวดังต่อไปนี้ว่า
อิติปิโส ภะคะวา กายแก้ว อิตินามะ วิสสุโต ครุ มหาลาโภ สัพพะลาโภ สัพพะ เสน่หา นิรันตะรัง เอหิ เอหิ ธะนัง เอหิ เอหิ ลาภัง ภะวันตุ เม แปลว่า ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้ากายแก้วชื่อดังนี้ ครูมหาลาภ ลาภทั้งหลาย เสน่หาทั้งหลาย จงมาๆ ทรัพย์ จงมาๆ ลาภ จงมีแก่ฉัน
พร้อมกันนี้ นายจตุรงค์ จงอาษา ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า หากจะแปลความหมายอีกหนึ่งคาถาที่เผยแพร่ในโลกโซเชียล แบบตรงทีละตัวก็จะได้ประมาณนี้
จะมหาราชา แปลว่า และพระราชา
สัพพะ แปลว่า ทุกสิ่ง ทั้งหมด ทั้งปวง
เสน่หา แปลว่า ความรัก
มะ แปลว่า มา
จิตตัง แปลว่า จิตใจ
ปิยัง แปลว่า ผู้เป็นที่รัก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคาถาบทนี้ นายจตุรงค์ ระบุเพิ่มเติมว่า อาจจะแปลเป็นประโยคคงเรียบเรียงไม่ได้ ซึ่งถ้าจะให้มีความแน่นอน ควรให้นักบาลีที่มีความเชี่ยวชาญแต่งคาถาให้ใหม่ ให้ดูสละสลวยและเป็นคาถาเฉพาะไปเลยน่าจะดีกว่า