ถึงบางอ้อ "อ.เจษฎ์" เฉลยแล้ว "ฝนราชการ" ทำไมฝนชอบตกตอนเลิกงาน - เลิกเรียน
ถึงบางอ้อ "อาจารย์เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เฉลยแล้ว "ฝนราชการ" ทำไมถึงชอบตกในเวลาเลิกงาน - เลิกเรียน
ช่วงหน้าฝนแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนมักจะเจอกับฝนตกในช่วงเย็น จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมฝนชอบตกตอนเลิกงาน - เลิกเรียน หรือที่หลายคนเรียกว่า "ฝนราชการ" เพราะชอบตกในเวลาที่ราชการเลิกงาน และมักจะส่งผลให้เกิดรถติดทำเอาหลาย ๆ กลับถึงบ้านช้าไปตามๆกัน และเกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุด ทีมงานไทยนิวส์ออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง "อาจารย์เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ โดย "อาจารย์เจษฎ์" ได้อธิบายเอาไว้ว่า
ต้องเข้าใจก่อนว่า ก่อนที่ฝนจะตกลงมาได้ ก็ต้องมี "เมฆฝน" ซึ่งจะเป็นเมฆเล็ก ๆ ที่สะสมมาตั้งแต่ในช่วงเช้า ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง กลายเป็นก้อนใหญ่ และต้องมี กระแสลมพัดสอบ เข้ามา จนเมฆสามารถก่อตัวเป็นก้อนใหญ่ได้ และเมฆก็ต้องขึ้นไปอยู่ในบริเวณที่สูงมาก ๆ ซึ่งยอดเมฆ ต้องสูงประมาณ 2 กิโลเมตรขึ้นไป ถ้าเกิน 7 กิโลเมตร นับจากฐานขึ้นไปก็มีโอกาสเกิดฝนได้
การที่จะให้เมฆอยู่ในระดับความสูง 2 - 7 กิโลเมตรขึ้นไปนั้น จะต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ซึ่งมันก็มีการสะสมตัวมาตั้งแต่เช้า จนกระทั่งมาถึงช่วงเย็น ซึ่งอากาศบ้านเราค่อนข้างร้อน พอมาถึงช่วงเย็น 3 - 4 โมงเย็น อากาศก็จะร้อนจัดจนได้ที่ พอเมฆก้อนใหญ่ สะสมตัวแล้ว เจออากาศร้อน มันก็จะกระตุ้น ให้ฝนตกลงมาได้ แต่ว่าแนวคิดนี้ จะใช้แค่เฉพาะช่วงหน้าฝนเท่านั้น ถ้าช่วงหน้าหนาว เรื่องของฝนมันมีอย่างอื่นประกอบด้วย ทั้งความชื้น ทิศทางลม ถ้าลมไม่มา เมฆไม่ใหญ่ โอกาสจะมีฝนตกก็ยาก
สรุปคือ ทำไมฝนชอบตกช่วงเลิกงานในหน้าฝน ก็เพราะ ในช่วงหน้าฝนมีไอน้ำในอากาศเยอะ ความชื้นสัมพัทธ์สูง พออากาศโดนแดดนาน จากเช้า สาย เที่ยง บ่าย ไอน้ำในอากาศซึ่งร้อนขึ้นก็จะฟิตจัด หรือมีพลังงานเยอะ ลอยสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ยิ่งสูงยิ่งหนาว ไอน้ำน้อย ๆ จึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ จำนวนมาก มองรวม ๆ ก็คือเม็ดน้ำก่อม็อบ กลายเป็นเมฆก้อน เมื่อเม็ดน้ำในเมฆก้อนใหญ่ขึ้น ก็จะหนักขึ้นจนถึงจุดหนึ่งก็หนักเกินไป ตกลงมาเป็นฝน
โดยทางด้าน "อาจารย์เจษฎ์" ได้เน้นย้ำว่า ในอดีตเคยมีคนอธิบายเรื่องนี้ ด้วยภาวะการเกิดโดมความร้อน ใน กทม. หรือเมืองใหญ่ แต่ว่าในตอนหลัง กรมอุตุนิยมวิทยา ไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องนี้ สรุปว่าก็คงเป็นเรื่องปรากฏการณ์ เรื่องของ หน้าฝน ที่มีการสะสมตัวของเมฆค่อนข้างมาก ในช่วงของหน้าฝนมากกว่าครับ
ขอบคุณ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์