ผบ.ตร. เผยแล้ว สาเหตุโอนคดี "สารวัตรแบงค์" ไปให้กองปราบ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เผยแล้ว สาเหตุโอนคดี พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรแบงค์ ไปให้ทางกองปราบปราม เผยตำรวจ 6 คน โดนข้อหา "ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่"ตามมาตรา 157
เกี่ยวกับคดี "สารวัตรแบงค์" ล่าสุด วันที่ 18 กันยายน 2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เปิดเผยกรณีการโอนคดี พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรแบงก์ ไปให้ทางกองปราบปรามเป็นผู้ทำคดี ว่าในคดีนี้จุดเริ่มต้นคือการที่นายธนัญชัย หมั่นมาก หรือ หน่อง เป็นคนยิงสารวัตรแบงค์ จากนั้นทางกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานจนออกหมายจับ ทั้งนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก และ นายหน่อง มือปืน จนต่อมาก็มีการวิสามัญมือปืนที่ก่อเหตุ
ซึ่งทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้มีการเสนอมายังตนว่าในคดีดังกล่าว เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับผู้มีอิทธิพลและเป็นคดีสำคัญ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและรอบคอบในการทำคดี เพราะเมื่อใดที่ในพื้นที่นั้นมีคดีเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล ก็จะไม่ได้รับความไว้ใจในกระบวนการยุติธรรม ตนก็เห็นชอบที่จะให้มีการโอนคดีมาที่กองปราบปราม
โดยทางด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้ในการทำคดีของกองปราบปราม จะมีทั้งในส่วนของหมายจับกำนันนก และ นายหน่องแล้ว ทางพนักงานสอบสวนของกองปรามปราม ก็พิจารณาแล้วว่ามีคนงานในบ้านกำนันนก ช่วยเหลือ และทำลายหลักฐานในวันเกิดเหตุ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดและดำเนินคดีอาญาไปแล้ว ต่อมา สำนวน ที่ บช.ภ.7 มีการสอบสวนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี 6 คน ในข้อหา "ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" ตามมาตรา 157 ในคดีนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว ทาง บช.ภ.7 เห็นว่าในคดีนี้เป็นคดีเดียวกัน จึงได้มีการเสนอมาทาง ผบ.ตร.เพื่อขอโอนสำนวนคดีมาให้ทางกองปราบปรามทำคดี เมื่อวันที่ 13 กันยายน ซึ่งตนก็เห็นชอบในการขอโอนสำนวน จึงได้อนุมัติการโอนสำนวนไปให้กองปราบปรามทำคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดก็มีเพียงเท่านี้ ทั้งตำรวจ และ พลเรือนก็มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีเดียวกัน ทั้งการช่วยเหลือ และการทำลายหลักฐาน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า กองปราบปรามมีอำนาจและศักยภาพ การปฏิบัติงานทั่วประเทศ โดยคดีนี้มีเพียงแค่จุดเดียวไม่ได้ยุ่งยากอะไร และทางพนักงานสอบสวนของกองปราบปรามก็มีจำนวนมาก ตนเห็นด้วยจึงให้โอนคดีไป หลังจากที่มีการโอนคดีแรกไปแล้วทางผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ก็ได้มีการให้ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. เป็นหัวหน้า ตนมั่นใจว่าจะทำคดีออกมาได้ดี
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า การโอนคดีกำนันนกนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในการทำคดีนี้ โดยตนจะดูในภาพรวมทั้งหมด และให้ทาง บช.ก. และ บช.ภ.7 ลงไปทำหน้าที่ในส่วนของตัวเองให้เร็วที่สุด สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการรวบรวมพยานหลักฐานจับกุมผู้กระทำความผิดได้เร็วจนนำไปสู่การวิสามัญคนร้าย อีกทั้งในขณะนี้ตนยังสั่งการไปว่าตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีจะต้องถูกดำเนินคดีให้ได้ ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับ ม.157 ทางพนักงานสอบสวนจะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. โดยจะนำสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาว่าจะส่งสำนวนกลับมาให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการฮั้วประมูลนั้น ถือว่าเป็นคดีพิเศษ ทางดีเอสไอ สามารถทำงานร่วมกับตำรวจได้ ซึ่งต้องไปเจรจากำหนดหน้าที่อีกครั้ง
ในส่วนที่กำนันนก เป็น กต.ตร.ภ.จว.นครปฐมนั้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ระบุว่า ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญ ยอมรับว่าบางจังหวัดยังมีอยู่ในเรื่องของเครือข่ายผู้มีอำนาจในการเงิน ในเรื่องของผู้มีอิทธิพล หากมีอีกทางผู้บังคับการอาจต้องรับผิดชอบ หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กต.ตร.ในตำแหน่งอยู่แล้ว หากมีการประชุมแล้วพบว่ามีคนไม่ดีเข้ามาเป็นท กต.ตร. ก็ต้องพิจารณาให้บุคคลนั้นออกจากตำแหน่ง กต.ตร. อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะต้องมีการพิจารณา และเข้มงวดในการลงสมัคร กต.ตร. หรือรวมถึงเรื่องของอาวุธปืนก็ดี ที่ต้องมีการประสานกับกระทรวงมหาดไท เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกัน เพราะทางตำรวจไม่ได้ทำเรื่องอนุญาตเรื่องอาวุธปืน ปัจจุบันตำรวจจึงไม่รู้ว่ามีใครครอบครองปืนกี่กระบอก จึงควรมีการเชื่อมข้อมูลร่วมกันในองค์ประกอบภาพรวม