พล.ต.ท.อำนวย อธิบายข้อสงสัยปมค้นบ้าน เจ้าของบ้านปฏิเสธได้หรือไม่
"พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน" อธิบายข้อสงสัยปมค้นบ้าน จำเป็นต้องระบุชื่อเจ้าของบ้านหรือไม่ เจ้าของบ้านปฏิเสธได้หรือเปล่า
วันที่ 25 ก.ย. 66 "พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน" กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม เคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊ก พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน ระบุว่า "การค้นนั้น!!...สำคัญไฉน??" กระผมบรรยายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องการค้น การจับ การสืบสวนสอบสวนมานานหลายปีดีดัก...
เมื่อมีประเด็นข้อสงสัย ถกเถียงกันว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบ หรือ มิชอบ เช่น
- จะไปค้นบ้านใคร จำเป็นต้องระบุชื่อเจ้าบ้านด้วย หรือ ระบุเพียงเลขที่บ้าน?
- หัวหน้าผู้ทำการตรวจค้นต้องเป็นระดับใด??
- เจ้าของหรือผู้ครอบครองบ้านจะปฏิเสธ หรือ ประวิงเวลาในการเข้าปฏิบัติการตามหมายค้นได้หรือไม่???
การค้น นั้น...
การค้นที่รโหฐานจะต้องมีคำสั่ง หรือ หมายของศาล (หมายค้น) "การค้น" เพื่อพบและยึดสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำความผิด , มีไว้เป็นความผิด , ได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นพยานหลักฐานยืนยันถึงการกระทำความผิด...หรือเพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ...(มาตรา 69 และ มาตรา 92)
ในการยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาล ผู้ยื่นจะต้องมีเหตุแห่งความสงสัย และพยานหลักฐานตามสมควรแสดงต่อศาลว่ามีสิ่งของดังกล่าวข้างต้น หรือ บุคคลที่มีหมายให้จับซุกซ่อน หรือซ่อนตัวอยู่ในนั้น โดยศาลจะทำการไต่สวนคำร้องจนสิ้นสงสัยก่อนที่ออกหมายค้นให้... หมายค้นที่ออกให้จะให้ความสำคัญกับสถานที่ๆ จะทำการค้น เช่น เคหสถาน สถานที่ราชการ โดยไม่ได้โฟกัสไปที่เจ้าของ หรือ ผู้ครอบครองสถานที่ที่จะค้น...
หัวหน้าผู้ทำการตรวจค้น ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสาม หรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ซึ่งมีชื่อระบุในหมายค้น (มาตรา 97) ดังนั้น ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (ยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) ที่มีชื่อระบุในหมายค้นจะเป็นหัวหน้าผู้นำทำการตรวจค้นได้ตามกฎหมาย เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ที่จะเข้าทำการตรวจค้นจะปฏิเสธไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดมิได้ และมาตรา 100 ยังให้อำนาจเจ้าพนักงานผู้ค้น เอาตัวบุคคลที่อยู่ในที่ค้น หรือจะถูกค้นที่มีพฤติกรรมจะขัดขวางถึงกับทำให้การค้นไร้ผลไปควบคุมไว้หรือให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานในขณะที่ทำการค้นเท่าที่จำเป็น ได้อีกด้วย
สื่อหลายแขนงเชิญกระผมให้ไปออกรายการและมีคำถาม ข้อสงสัยที่ฟังแล้วอาจจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง...กระผม จึงขอถือโอกาสนี้ชี้แจงสื่อและสังคมในประเด็นข้างต้นมาด้วยความเป็นห่วงกับการที่มีการให้ข่าวแล้วทำให้สังคมไขว้เขว โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจ ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันว่าด้วยการนี้จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และ ที่สำคัญจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค และโดยสุจริต
"กัมมุนาวัตตติโลโก" สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน
กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม
25 กันยายน 2566