ทนายเจมส์ ชี้ ข้อสงสัย หลังศาลสั่งเพิกถอนใบสั่ง คนโดนใบสั่งต้องทำอย่างไร
ทนายเจมส์ ออกมาชี้แนะข้อสงสัย โดนใบสั่งต้องทำอย่างไร หลังศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอน "ใบสั่งจราจร" ย้อนหลัง ตั้งแต่ ก.ค.63
กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก ประเด็นเรื่องของใบสั่งและค่าปรับจราจร หลังจากศาลปกครอง สั่งเพิกถอนประกาศ "ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่งจราจร" ชี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้ล่าสุดเกิดคำถามและข้อสงสัยว่า คนที่โดนใบสั่งต้องทำอย่างไร??
ทางศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องกำหนดใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องการกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563
คำสั่งดังกล่าวให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศ หรือวันที่ 20 ก.ค.2563
และยกฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เนื่องจากศาลปกครอง เห็นว่า ใบสั่งดังกล่าวไม่ได้แจ้งให้ทราบถึงสิทธิหรือโอกาสที่จะโต้แย้ง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ประกาศดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้นมีการกำหนดค่าปรับไว้ล่วงหน้า เป็นอัตราที่แน่นอนตายตัว โดยเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้ดุลยพินิจเปรียบเทียบปรับได้ตามความเหมาะสม
สำหรับประเด็นที่ผู้ฟ้องได้ฟ้องนั้น เนื่องจากใบสั่งจราจรตั้งแต่ปี 2563 ไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้ใช้สิทธิโต้แย้ง มีเพียงข้อความเตือนว่า หากได้รับใบสั่งแล้ว 15 วัน หลังจากนั้นให้สันนิษฐานว่า "ผิด" ยกเว้นแต่จะแจ้งพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน ว่าไม่ใช่คนขับ แตกต่างจากใบสั่งจราจรปี 2560 หรือใบสั่งเดิม ที่เขียนไว้ว่า หากต้องการปฏิเสธความผิดให้ทำอย่างไรได้บ้าง
นอกจากนี้ คดีดังกล่าว เป็นคดีที่นางสุภา โชติงาม (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในขณะที่ทนายเจมส์ นายนิติธร แก้วโต ก็เปิดเผยอีกว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่ง
เจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2563 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว และยกฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
คอยติดตามครับว่า จะมีฝ่ายใดอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นหรือไม่ และคดีนี้จะจบลงอย่างไร
ที่สำคัญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับค่าปรับที่รับเงินจากประชาชนไปแล้วตั้งแต่ ปี 2563 อย่างไร ใบสั่งที่ออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีการชำระค่าปรับจะต้องทำอย่างไร
และหลังจากที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาแล้ว สตช. จะยังคงออกใบสั่งโดยอาศัยประกาศฉบับดังกล่าวอีกหรือไม่?? ซึ่งก็ต้องรอติดตามรายละเอียดความคืบหน้าเพิ่มเติม