"หมอธีระ" แนะ! ติดโควิดหลายครั้ง จะทำยังไงไม่ให้ติดอีก?
"หมอธีระ" นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาตอบคำถามน่าสนใจ ที่หลายคนถามมาโดยไม่ได้นัดหมาย "ติดโควิดหลายรอบ ทำอย่างไรถึงจะไม่ติดอีก"
"หมอธีระ" นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ตอบคำถามที่หลายคนสงสัย ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวที่มีชื่อว่า Thira Woratanarat โดยได้ออกมาตอบคำถามน่าสนใจ ที่หลายคนถามมาโดยไม่ได้นัดหมาย กรณี "ติดโควิดหลายรอบ ทำอย่างไรถึงจะไม่ติดอีก"
โดย "หมอธีระ" ได้โพสข้อความระบุว่า
เช้านี้ตรวจคนไข้หลายคน
มีคำถามน่าสนใจที่หลายคนถามมาโดยไม่ได้นัดหมาย
"คุณหมอคะ หนูติดโควิดมาหลายครั้งแล้ว กลัวจะเกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว ควรทำอย่างไรดี แต่ละครั้งที่ติดก็มีอาการป่วยอยู่หลายวัน ปีที่แล้วติดไปแทบจะ 4 เดือนครั้ง จะทำยังไงไม่ให้ติดอีก?"
คำตอบ :
1. การป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันเป็นหัวใจสำคัญ ยิ่งหากไปในที่ชุมชน มีคนมาก ก็คงต้องระมัดระวังตามหลักการที่เรารู้กันดี หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่างไม่คลุกคลี วันนี้เห็นคนไข้บางคนมารพ. แต่ไม่ป้องกันตัว เปิดหน้าสู้ไม่ยั่น โอกาสสัมผัสและติดเชื้อ ย่อมมีสูงกว่าคนที่ป้องกันตัว นี่คือสัจธรรมที่ปฏิเสธได้ยาก
2. หากติดเชื้อ ควรถือคติ แยกตัว ป้องกันการแพร่สู่คนรอบข้าง รักษาตัวให้หายดี การเตรียมหยูกยาไว้ประจำบ้านให้พร้อมรับเหตุการณ์เสมอจะช่วยให้จัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญที่ต้องเน้นย้ำกันอีกครั้งคือ ข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบัน พบว่า การตรวจด้วย ATK ในช่วงวันแรกๆ หลังมีอาการนั้นมีความไวลดลงเหลือ 30-60% เท่านั้น จึงมีโอกาสที่จะทำให้ตรวจได้ผลลบปลอม ทั้งๆ ที่ติดเชื้ออยู่มีสูงขึ้นกว่าเดิม ไวรัสจะพีคช่วงวันที่ 4-5 หลังมีอาการ ดังนั้นหากมีอาการป่วยและตรวจในช่วง 3 วันแรกแล้วได้ผลลบ อย่าชะล่าใจ ควรตรวจซ้ำในช่วงวันที่ 4-5 ด้วย
3. หลังจากที่ติดแล้ว ความรู้ที่เรามีคือ คนไข้บางส่วนจะเสี่ยงเป็น Long COVID ซึ่งรวมถึงการเกิดโรคเรื้อรังได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงความดันโลหิตสูง)แม้โอกาสจะไม่มากก็ตาม เพราะสามารถลดความเสี่ยงโดยการได้รับวัคซีน รวมถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ได้มาตรฐานแต่สุดท้ายแล้วการติดเชื้อแต่ละครั้งนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงเสมอ
ดังนั้น หลังจากหายจากติดเชื้อ ควรประเมินสมรรถนะร่างกายตนเอง และตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อคัดกรองโรคหรือปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ขอขอบคุญข้อมูล : นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย