ส่องคลิปหลักฐานใหม่ พิสูจน์บั้งไฟพญานาค ถ่ายจากฝั่งลาว ด้วยกล้อง 360 องศา
"อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" แชร์คลิปหลักฐานใหม่ จากเพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาค ถ่ายจากฝั่งลาว ด้วยกล้อง 360 องศา
วันที่ 6 พ.ย. 66 อาจารณ์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ พูดถึงเรื่อง "บั้งไฟพญานาค" โดยเปิดคลิปหลักฐานจากเฟซบุ๊กเพจ พิสูจน์บั้งไฟพญานาค ถ่ายจากฝั่งลาว ด้วยกล้อง 360 องศา ระบุว่า...
.
"เปิดหลักฐานใหม่ล่าสุด คลิปบั้งไฟพญานาค ถ่ายจากฝั่งลาว ด้วยกล้อง 360 องศา"
ทางเพจเฟซบุ๊ก พิสูจน์บั้งไฟพญานาค ได้เริ่มปล่อยผลงานใหม่ ของการลงสำรวจ "บั้งไฟพญานาค" ในคืนวันออกพรรษาที่ผ่านมาครับ
และน่าสนใจมากกับเทคนิคลูกเล่นใหม่นี้ หลังจากที่ลองทำมาหลายแบบแล้ว ทั้งถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายวิดีโอ ถ่ายภาพจากโดรนฯ ... โดยปีนี้ มีการใช้ "กล้อง 360 องศา" ร่วมถ่ายจากฝั่งลาวด้วยครับ
โดยทีมงานแบ่งเป็น 2 ส่วน ทีมหนึ่งถ่ายวิดีโอ "บั้งไฟพญานาค" ที่ริมแม่น้ำโขง จากฝั่งไทย โดยตั้งกล้องบริเวณริมโขง หลัง อบต. โพนแพง จ.หนองคาย .. ทีมนี้ ใช้กล้องดิจิตอลถ่ายวิดีโอตามปรกติ
ขณะที่อีกทีมหนึ่ง ข้ามไปบริเวณหมู่บ้านทวาย ประเทศลาว ซึ่งเคยมีการสำรวจพบมาก่อนแล้วว่า เป็น 1 ใน 10 กว่าหมู่บ้าน ที่น่าจะการยิงปืนด้วยกระสุนส่องวิถี ฉลองเทศกาลวันออกพรรษาและลอยกระทงของลาว มานานแล้ว ... ทีมฝั่งลาวนี้ มีการนำเอากล้อง 360 องศามาใช้ด้วย ซึ่งสามารถบันทึกภาพของเหตุการณ์เดียวกัน จากรอบตัวของกล้องได้
และเมื่อเวลาประมาณ 19.22 น. ก็พบว่ามีลูกไฟ "บั้งไฟพญานาค" ขึ้นมา 2 ลูก ซึ่งถ้ามองในเวลากลางคืนอันมืดมิด ก็หลอกตาว่าเหมือนขึ้นจากน้ำ พร้อมกับมีเสียงเฮลั่นของผู้ชมฝั่งไทย
แต่เมื่อเอามาดูในกล้องที่มีความสามารถในการเก็บแสงดีกว่าตาของคนเรา ก็มองเห็นได้ชัดว่า ลูกไฟทั้ง 2 นี้ น่าจะขึ้นจากฝั่งตรงข้ามต่างหาก ไม่ใช่จากในน้ำ (และถ้าเอาภาพวิดีโอ มาเปลี่ยนเป็นภาพนิ่ง ซ้อนกัน แบบ stacked image ก็ยิ่งชัดว่าขึ้นจากฝั่ง ไม่ใช่จากน้ำ)
ที่สำคัญคือ กล้อง 360 องศาที่ตั้งถ่ายอยู่ทางฝั่งลาวนั้น ไม่สามารถถ่ายลูกไฟทั้ง 2 นี้ ขึ้นมาจากน้ำได้เลย (ซึ่งถ้าเป็นไปตามสมมติฐานว่า บั้งไฟพญานาคขึ้นจากกลางน้ำนั้น กล้องฝั่งนี้ก็น่าจะถ่ายภาพได้ด้วย)
แต่ๆๆ ในองศาอีกฟากของกล้อง (กล้อง 360 องศา สามารถบันทึกภาพได้รอบตัวตลอดเวลาที่ถ่าย) กลับเห็นลูกไฟทั้ง 2 ลูกนั้น ขึ้นจากป่าของฝั่งประเทศลาวได้
นี่คงพอเป็นหลักฐานใหม่ๆ และเป็นเทคนิคแนวทางใหม่ ให้คนที่อยากพิสูจน์เรื่องบั้งไฟพญานาค นำไปใช้ทดลองทำได้ด้วยตนเองนะครับ แทนที่จะไปดูด้วยตา (ซึ่งถูกหลอกได้ง่ายด้วยความมืดและมโนทัศน์ศรัทธา) ก็มาถ่ายภาพ ถ่ายคลิปกันครับ จะได้เห็นความจริงกันมากขึ้น