พบลูกช้างป่า 1 เดือน พลัดหลงฝูง สภาพผอมอิดโรย เห็นแล้วสงสาร
อุทยานแห่งชาติทับลาน พร้อมทีมสัตวแพทย์เข้าช่วยลูกช้างป่าพลัดหลงฝูง สภาพผอมอิดโรย เดินโซเซรอแม่มารับ พร้อมเผยอาการล่าสุด
สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่เขตการจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 5 (ภูลำใย) ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบลูกช้างป่าหลงฝูง เดินวนเวียนอยู่แนวชายป่าติดกับไร่มันสำปะหลังของชาวบ้าน ในท้องที่บ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นรอยต่อกับ จ.บุรีรัมย์
จากนั้นจึงแจ้งทีมสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เข้าไปร่วมตรวจสอบ พบลูกช้างป่าเพศผู้ ประเมินว่าอายุไม่เกิน 1 เดือน อยู่ในสภาพอิดโรย เดินโซเซอยู่ริมแนวเขตป่าห่างจากแหล่งชุมชนประมาณ 3 กิโลเมตร คาดว่าพลัดหลงจากฝูง
สำหรับพฤติกรรมทั่วไป ตื่นตัว สนใจสิ่งแวดล้อมดี ร่าเริงดี เดินได้ วัดขนาดร่างกาย สูง 90 เซนติเมตร รอบอก 100 เซนติเมตร ตามร่างกายมีแผลถลอกตามผิวหนังร่างกายเล็กน้อย ไม่มีแผลลึก สะดือยังไม่ปิด สะดือมีความลึกประมาณ 1 นิ้ว มีหนองเล็กน้อย ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีหนอนแมลงวัน
สภาพโดยรวมภาพนอกไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ ทีมสัตวแพทย์ล้างสะดือและใส่ยาฆ่าเชื้อ โรยผงป้องกันหนอนแมลงวันที่สะดือ ใส่ยาฆ่าเชื้อตามแผลถลอกบนร่างกาย เมื่อป้อนนมให้ น้องช้างยังดูนมจากขวดนมไม่เป็นจึงต้องสอนร่วมกับการบังคับป้อนอย่างเหมาะสม
ล่าสุดทำคอกชั่วคราวใกล้พื้นที่ที่พบลูกช้างพลัดหลง จัดเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยในช่วงกลางคืนจะเว้นระยะการเข้ามารบกวนลูกช้าง เพื่อหวังผลว่า ถ้าฝูงช้างที่มีแม่ยังอยู่ใกล้เคียง อาจมีโอกาสเข้ามารับลูกช้าง พร้อมกันนี้ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนใกล้เคียงทราบข้อมูลและลดการเข้ามารบกวนในพื้นที่ที่ทำคอกพักลูกช้างให้มากที่สุด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 นายคทาวุธ กันยามา หัวหน้าเขตการจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 5 (ภูลำใย) รายงานว่า เขตการจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 5 (ภูลำใย) รายงานการดูแลลูกช้างป่า ในพื้นที่บ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ดังนี้
- วันที่ 8 พ.ย. 2566 เวลา 20.30 น. คณะเจ้าหน้าที่ฯ ได้ดำเนินการป้อนนมให้แก่ลูกช้างป่า โดยลูกช้างป่าสามารถกินได้ปกติ มีการขับถ่ายปกติ
- วันที่ 9 พ.ย. 2566 เวลา 01.30 น. ลูกช้างป่ามีการขับถ่ายปกติ เริ่มเดินและส่งเสียงร้อง แต่จากการสังเกตไม่มีโขลงช้างป่าเข้ามาในบริเวณใกล้เคียงแต่อย่างใด
- ช่วงเวลา 04.00 น./06.00 น./09.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ได้ป้อนนมให้แก่ลูกช้างป่าตามเวลาที่สัตวแพทย์ได้แจ้งไว้ โดยลูกช้างป่าสามารถกินนมได้ปกติ และมีการขับถ่ายที่ดีจนมูลเริ่มเป็นสีเหลือง ซึ่งจะมีการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มาเพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช