เปิดข้อมูล "โรคพาร์กินสัน"เผย "สารสื่อประสาทโดพามีน"เกี่ยวข้องอย่างไร?
"ท่านอ่อง" ออกมาให้ความรู้ในเรื่องของ โรคพาร์กินสัน เผย ผู้ป่วยมักจะมีอาการสั่นที่มือ นิ้วมือ หรือทั้งสองอย่าง
ล่าสุด นายแพทย์ จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ หรือ "ท่านอ่อง" ได้ออกมาให้ความรู้ทางด้านสุขภาพเกี่ยวกับ โรคพาร์กินสัน โดยได้ระบุข้อความว่า...
“ โรคพาร์กินสัน “ ( Parkinson’s disease )
เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยมักจะมีอาการสั่นที่มือ นิ้วมือ หรือทั้งสองอย่าง…ทำไมครับ?
หัวใจหลักของโรคพาร์กินสัน คือ “ สารสื่อประสาทโดพามีน “ ( Dopamine ) โดพามีนจะช่วยให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างราบรื่น เรามาดูประสาทกายวิภาคศาสตร์ ( Neuroanatomy ) กันสักเล็กน้อย เพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นกันนะครับ
นักศึกษาจำโครงสร้างของ “ Substantia Nigra “ และความสำคัญของมันได้ไหมครับ?
แน่นอนครับว่าพวกคุณจำได้! Substantia Nigra คือ ส่วนที่มีสารสื่อประสาทโดพามีนอยู่ คำว่า “ Substantia Nigra “ เป็นคำศัพท์ภาษาละติน แปลว่า “ Black Substance “
นั่นเพราะว่าส่วนนี้เมื่อปรากฎบน imaging study จะมีสีดำเข้มกว่าโครงสร้างโดยรอบ…โอ้!และ Substantia Nigra นี้อยู่ที่ส่วนไหนของสมอง?
ใช่ครับ! Substantia Nigra นี้อยู่ที่ส่วนลึกๆของสมองส่วนกลางครับ!
Substantia Nigra เป็นส่วนหนึ่งของ Basal Ganglia - Basal Ganglia คือ กลุ่มของโครงสร้างที่ทำงานด้วยกันเพื่อที่จะ : เริ่มต้นการขยับเขยื้อน ความความมั่นคงของท่าทาง ความราบรื่นในการเคลื่อนไหว และแรงต้านของกล้ามเนื้อที่เหมาะสม
Basal Ganglia เชื่อมต่อกับสมองส่วนสั่งการ ( Motor cortex ) หน้าที่ของสมองส่วนสั่งการคืออะไร? ได้แก่การวางแผนการเคลื่อนไหวและการเคลื่อนไหวภายใต้อำนาจจิตใจ ตัวอย่างเช่น ให้นึกถึงเวลาที่เราอยากดื่มกาแฟแล้วเราก็เอื้อมมือของเราไปคว้าแก้วกาแฟมานะครับ
ดังนั้นเพื่อที่จะขยับแขน สมองส่วนสั่งการก็จะส่งสัญญาณไปสู่โครงสร้างที่เรียกว่า “ Striatum “ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Basal Ganglia เพื่อขออนุญาตที่จะขยับเขยื้อนแขน จากนั้น Striatum ก็จะโต้วาทีกับโครงสร้างอื่นๆใน Basal Ganglia ว่า “ จะขยับหรือไม่ขยับ?…ได้หรือไม่ได้?.... “ และท้ายที่สุด Substantia Nigra ก็จะหลั่งสารสื่อประสาทโดพามีนออกมา เมื่อมีการหลั่งโดพามีนออกมา คำตอบก็คือ “ ได้ “ ก็จะเกิดการเคลื่อนไหวและยุติการโต้วาทีครับ โดพามีนทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างราบรื่น
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน จะขาดสารสื่อประสาทโดพามีน ดังนั้นเมื่อสมองส่วนสั่งการขออนุญาตที่จะเคลื่อนไหวจากโครงสร้างของ Basal Ganglia จะเกิดอะไรขึ้น? ก็จะขาดสารโดพามีนที่มากพอที่จะตอบว่า “ ขยับได้ “ ดังนั้นการโต้วาทีที่ว่า “ จะขยับหรือไม่ขยับ?…ได้หรือไม่ได้? “ ระหว่างโครงสร้างใน Basal Ganglia ก็จะดำเนินไปอยู่พักหนึ่งและการถกเถียงกันว่า “ ได้หรือไม่ได้?…ได้หรือไม่ได้? “ นี้ มีความสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการสั่นขณะพัก ( resting tremor ) ผมหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์นะครับ ด้วยความปรารถนาดี