ถึงบ้านเกิดอย่างปลอดภัย "โนบิตะ ชิซูกะ ไบรอัน” 3 ลิงอุรังอุตัง
หลังเดินทางถึงประเทศอินโดนีเซียต่อมาได้เดินทางจากกรุงจาร์กาตาไปถึงศูนย์ฟื้นฟูลิงอุรังอุตังในเมือง Jambi ทั้ง 3 ตัวมีสุขภาพดี เคลื่อนไหวปีนป่ายในกรงและกินอาหารได้เป็นปกติ
ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายระห์หมัด บูดีมัน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมส่งมอบลิงอุรังอุตังของกลางที่สิ้นสุดทางคดีแล้วจำนวน 3 ตัว กลับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
โดยลิงอุรังอุตังทั้ง 3 ตัว เป็นของกลางที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยึดได้จากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดูแลและตรวจสุขภาพลิงอุรังอุตัง ซึ่งเป็นสายพันธุ์สุมาตราทั้ง 3 ตัว ไว้ ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี ได้แก่ 1.ลิงอุรังอุตัง ชื่อ ไบรอัล เพศผู้ ปัจจุบันอายุ 5 ปี 2.ลิงอุรังอุตัง ชื่อโนบิตะ เพศผู้ และ3. ลิงอุรังอุตัง ชื่อชิซุกะ เพศเมีย ปัจจุบันอายุ 7 ปี
ทั้งนี้ การส่งลิงอุรังอุตัง จำนวน 3 ตัว คืนประเทศถิ่นกำเนิดในครั้งนี้ ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ในโอกาสครบรอบ 73 ปี ความสัมพันธ์ไทย – อินโดนีเซีย เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระดับนานาชาติในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า รวมถึงแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของ พล.ต.อ. พัชรวาท ที่ให้ความเห็นชอบส่งลิงอุรังอุตัง ไปยังสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามระยะเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี 2556 - 2560 ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือในการส่งลิงอุรังอุตัง ที่ตกเป็นเหยื่อการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย จำนวน 14 ตัว กลับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งการส่งมอบลิงอุรังอุตังกลับถิ่นกำเนิด ถูกดำเนินการมาแล้วรวม 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2549 รวมทั้งสิ้น 71 ตัว ถือเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และการดำเนินงานตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาไซเตส เช่นเดียวกับความร่วมมือทวิภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการอยู่ การส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า และการต่อต้านอาชญากรรมสัตว์ป่าผ่านความพยายามร่วมกัน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า ให้เกิดความยั่งยืนในระดับสากล