เตือนภัย! ดื่มแอลกอฮอล์แล้วตัวแดง เสี่ยงมะเร็งบางชนิด จริงหรือ?
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ออกมาเปิดเผยข้อมูล ผ่านทางรายการ “ชัวร์แน่ หรือแชร์มั่ว” ep.108 เรื่อง ดื่มแอลกอฮอล์แล้วตัวแดง เสี่ยงมะเร็งบางชนิด จริงหรือ?...
ล่าสุด "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมามาเปิดเผยข้อมูล ผ่านทางรายการ “ชัวร์แน่ หรือแชร์มั่ว” ep.108 โดยโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุข้อความดังนี้...
"ดื่มแอลกอฮอล์แล้วตัวแดง เสี่ยงมะเร็งบางชนิด จริงหรือ?
มีคำถามหลังไมค์มาว่า "ดื่มเหล้า แล้วตัวแดง มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งบางชนิดมากขึ้น จริงหรือเปล่าครับอาจารย์ !? " เรื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วตัวแดงจะเสี่ยงมะเร็งบางชนิด นี้เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องมั่วครับ ?
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงครับ ! เห็นเพจอื่นๆ ทางการแพทย์เคยเขียนกันไปแล้ว แต่ผมยังไม่เคย จนได้คำถามหลังไมค์นี้ เลยเอามาเล่าสู่กันฟังนะครับ
โดยนักวิจัยได้ระบุว่า ในยีนของชาวเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวเกาหลี ชาวญี่ปุ่น หรือแม้แต่ชาวไทย มีความแตกต่างจากชาวยุโรป โดยบางคนอาจมีเอนไซม์ อัลดีไฮด์ ดีไฮโดรจีเนส สอง aldehyde dehydrogenase 2 (ย่อว่า ALDH2) บกพร่อง ซึ่งเอนไซม์ ALDH2 นี้ ช่วยเปลี่ยนสารก่อมะเร็งอย่างสาร อะซีทอลดีไฮด์ (acetaldehyde) ให้กลายเป็นสารที่ไม่เป็นพิษ และช่วยให้กระบวนการในร่างกาย ขับสารตัวนี้ออกไปตามปกติ
ดังนั้น คนที่มีเอนไซม์ ALDH2 บกพร่อง ก็จะทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อสารอะซีทอลดีไฮด์ ที่ได้จากการกระบวนการเผาผลาญเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้สาร acetaldehyde นี้ตกค้างสะสมอยู่ในร่างกาย อาจทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ก่อให้เกิดอาการหน้าแดง ตัวแดง คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ทัน เมาง่าย
และอาจกลายเป็นสารกระตุ้นโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ โดยมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลอดอาหาร มากกว่าคนที่ดื่มเหล้าแล้วไม่มีอาการตัวแดง ประมาณ 6-10 เท่า และเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหาร มากกว่าคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย ประมาณ 89 เท่าทีเดียว
นอกจากนี้ รายงานข่าวยังเผยข้อมูลจากนักวิจัยด้วยว่า คนที่ดื่มเหล้าแล้วตัวแดง ยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย โดยจะเสี่ยงต่อโรคเพิ่มขึ้นเมื่อดื่มเหล้ามากกว่า 4 แก้วต่อสัปดาห์ ส่วนคนที่ไม่มีอาการตัวแดงหลังดื่มแอลกออฮอล์ ก็มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นเช่นกัน ถ้าดื่มเหล้าเกิน 8 แก้วต่อสัปดาห์
ดังนั้น ใครที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แล้วเกิดอาการแพ้แอลกอฮอล์ หน้าแดง ตัวแดง หรือเมาง่าย ก็ควรจะลด-ละ-เลิกเสียนะครับ (ซึ่งจริงๆ แล้ว ถึงไม่แพ้ ก็ควรลดเช่นกันครับ)
มีรายงานข่าวตั้งแต่ปีก่อน เตือนว่า "ถ้าดื่มเหล้า แล้วตัวแดง มีอาการแพ้แอลกอฮอล์ จะเป็นสัญญาณเตือนอันตรายว่า คุณจะมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร เพิ่มขึ้นกว่าคนที่ดื่มเหล้าแล้วตัวไม่แดง ถึง 6-10 เท่า ! และถ้าเทียบกับคนไม่ดื่มเหล้า จะยิ่งเสี่ยงมากกว่าถึง 89 เท่า !!" (ดูลิงค์ข่าวด้านล่าง)
ลองอ่านรายละเอียดของสาเหตุ และวิธีการหลีกเลี่ยง อาการแพ้แอลกอฮอล์นี้ ได้ด้านล่างครับ
#การแพ้แอลกอฮอล์ (Alcohol flush Reaction)
- เป็นอาการผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นหลังจากการกินเหล้า หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งแต่ละคนจะแสดงอาการแพ้แอลกอฮอล์แตกต่างกัน เช่น หน้าแดง (flushing) ตัวแดง ตาแดง เกิดผื่นแดง มีอาการคัน หรือหัวใจเต้นเร็วร่วมด้วย
- โดยปกติแล้ว เมื่อเรากินเหล้า กินเบียร์ ฯลฯ เข้าไป ในตับจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า “ALDH2” คอยทำหน้าที่เปลี่ยนสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายที่ชื่อว่า อะซิทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ให้กลายเป็น อะซิเตต (Acetate) ที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ในระหว่างที่ร่างกายกำลังเผาพลาญแอลกอฮอล์ (Ethanol)
- แต่ในกรณีคนที่ แพ้แอลกอฮอล์ นั้น เกิดจากการที่ร่างกายนั้นขาดเอนไซม์ ALDH2 หรืออาจจะมีเอนไซม์ชนิดนี้อยู่ แต่ทำงานบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถเผาพลาญแอลกอฮอล์ออกไปได้ ส่งผลให้เกิดการคั่งของสารพิษอะซิทัลดีไฮด์ ทำให้เกิดอาการหน้าแดง มึนเมา ปวดหัว ฯลฯ หรืออาจจะมีอาการที่รุนแรงกว่าหลังจากได้รับแอลกอฮอล์เข้าไปในร่างกาย ถึงขั้นเกิดโรคแทรกซ้อน หรือเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
#อาการแพ้แอลกอฮอล์เป็นอย่างไร?
- เมื่อเอนไซม์ ALDH2 ทำงานบกพร่อง บางคนที่กินเหล้าเข้าไปแม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้เกิดอาการมึนหัว หน้าแดง ตัวแดง (อาจจะเป็นแค่ช่วงหัว-หน้าอก หรือแดงทั้งตัวก็ได้) ตาแดง ฯลฯ ได้เร็วกว่าคนทั่วไป และต้องใช้เวลานานกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพราะสารพิษที่คั่ง ทำให้เกิดอาการต่างๆ
- ในคนที่มีความบกพร่องเอนไซม์ชนิดนี้มากๆ เอนไซม์เผาผลาญแอลกอฮอล์ได้ไม่ดี ก็อาจจะทำให้เกิดอาการรุนแรงหลังกินเหล้าได้ เช่น เป็นลม หรือสลบไปเลย เพราะทนต่อสารพิษ อะเซทาลดีไฮด์ (acetaldehyde) ไม่ไหว
- หรืออาจจะเกิดกรณีร้ายแรง เช่น ทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คล้ายโรคภูมิแพ้ เนื่องจากทำให้เนื้อเยื้อทางเดินหายใจบวม จนไปปิดกั้นหลอดลม ส่งผลให้หายใจไม่ออก หายใจติดขัด ซึ่งหากพบอาการเช่นนี้ต้องรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เสียชีวิตได้
#มักเกิดกับคนกลุ่มใด?
- ส่วนมากแล้วจะพบในคนเชื้อสายเอเชีย เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ โดยสังเกตุได้ง่ายๆ จากเวลาดื่มเหล้า ฯลฯ คนเอเชียมักจะมีอาการแพ้แอลกอฮอล์ และมีอาการ hang over หรือเมาค้างมากกว่าคนชาติอื่น
- เพราะต้องใช้เวลาในการเผาผลาญสารพิษช้ากว่า จนมีชื่อเรียกเฉพาะของอาการแพ้แอลกอฮอล์ของคนเอเชียด้วยว่า Asian Flush ซึ่งหากปล่อยอาการผิดปกตินี้ทิ้งไว้ในระยะยาว อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร
#จะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้แอลกอฮอล์?
1. ตอนกินเหล้าครั้งแรก ให้สังเกตุอาการ ว่าเกิดอาการหน้าแดงหรือไม่? หากมีอาการแดง แสดงว่าร่างกายขาดเอนไซม์ ALDH2 และมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหลอดอาหาร
2. สังเกตุอาการตอนกินเหล้า ในช่วง 1-2 ปีหลัง ว่าทุกครั้งที่กินยังมีอาการหน้าแดง ตัวแดง อยู่หรือไม่? หากตัวแดงในครั้งแรก และจางลงเรื่อยๆ จนไม่มีอาการแดงแล้ว แสดงว่า ร่างกายเริ่มติดเหล้า ซึ่งก็ไม่ใช่ผลดี เพราะในอนาคตก็ยังมีความเสี่ยงโรคต่างๆ เช่น ตับแข็ง พิษสุราเรื้อรัง ฯลฯ รวมถึง มะเร็งหลอดอาหาร
#อันตรายของอาการแพ้แอลกอฮอล์
- คนที่แพ้แอลกอฮอล์ ไม่ควรทานเหล้ามาก เพราะอาจจะเกิดความเสี่ยงเป็นโรคได้หลายชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ฯลฯ รวมถึงมะเร็งหลอดอาหาร
- มีงานวิจัยพบว่า คนที่มีอาการแพ้แอลกอฮอล์ หรือขาดเอนไซม์ย่อยสลายแอลกอฮอล์ ALDH2 นี้ หากดื่มเบียร์เพียงวันละ 2 กระป๋อง ก็อาจเกิดความเสี่ยงเป็น มะเร็งหลอดอาหาร มากกว่าคนทั่วไปถึง 6-10 เท่า!
- แต่หากสามารถควบคุม หรือลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ลงได้ ก็สามารถลดความเสี่ยงการเกิด มะเร็งหลอดอาหารได้ถึง 53%
#รักษาอย่างไร?
- ในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ใช้รักษาอาการแพ้แอลกอฮอล์นี้โดยตรง บางคนใช้ยาที่รักษาโรคกรดไหลย้อน แทน ซึ่งมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผลกับผู้ป่วย เพราะยานี้เป็นเพียงแค่การปกปิดอาการไว้ ไม่ใช้ยารักษาจริงๆ (แต่ปัจจุบันยาดังกล่าวได้ถูก อ.ย เรียกคืนแล้ว เนื่องจากเสี่ยงกับการเป็นมะเร็ง)
- ยาที่มีสารควบคุมฮิสตามีน 2 (ที่คนบางกลุ่มชอบใช้) ไม่ได้ช่วยทำให้หายเมา แต่ทำให้เมาเร็วขึ้น อีกทั้งยังทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าปกติ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งผิวหนัง อีกด้วย)
- แพทย์จะจ่ายยาจำพวกเอพิเนฟรีน ที่มาในรูปแบบปากกาฉีดยาแบบพกพาให้ผู้ป่วย เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินหากผู้ป่วยเกิดอาการ และผู้ที่ใช้ยานี้จะต้องได้รับการจ่ายยาและเรียนรู้วิธีการฉีดจากแพทย์ก่อนเท่านั้น หลังจากการฉีดยาผู้ป่วยต้องรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ได้ทำการวินิจฉัยและรักษาอาการที่เกิดขึ้นต่อไป
#ลดความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร
หากรู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่เกิดเป็นมะเร็งหลอดอาหาร ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค คือ ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ / ไม่สูบบุหรี่ / รับประทานผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ / ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัดจนเกิดไป / ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่าปล่อยให้อ้วน หรือน้ำหนักเกิน