พบ "แร้งดำหิมาลัย" นกอพยพหายาก ขนาดใหญ่สุดในทวีปเอเชีย สภาพอ่อนแรง
พบ "แร้งดำหิมาลัย" นกอพยพหายาก ขนาดใหญ่สุดในทวีปเอเชีย มีอาการอ่อนแรงกางปีกบินไม่ได้ ที่จังหวัดกำแพงเพชร.
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 66 ทางด้านเพจ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ เผยว่า แร้งดำหิมาลัย เป็นนกล่าเหยื่อจำพวกอีแร้งขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ขนาดลำตัวยาวประมาณ 102-104 เซนติเมตร ความยาวปีกจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง 2.9 - 3 เมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 7-12.5 กิโลกรัม ถือเป็นอีแร้งที่ใหญ่ที่สุดที่พบได้ในทวีปเอเชีย ตัวผู้และตัวมีลักษณะเหมือนกัน ทั่วตัวมีขนสีดำ ตรงบริเวณหัวถึงคอมีขนน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย บริเวณรอบ ๆ คอมีขนขึ้นฟูคล้ายพวงมาลัย นิ้วสีออกขาว ตัวที่ยังไม่โตเต็มวัยมีลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนกว่า
แร้งดำหิมาลัย ไม่ใช่นกประจำถิ่นของไทย นอกจากอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาวของแต่ละปีเท่านั้น มีการกระจายพันธุ์ในทวีปยุโรปจนถึงภูมิภาคไซบีเรีย, เอเชียกลาง, จีน, อินเดีย จะอพยพมาประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ หายากและมีปริมาณน้อยมาก ในประเทศไทย อีแร้งดำหิมาลัย เป็นนกอพยพหายาก จะอพยพเข้ามาในฤดูหนาวบางปี จำนวน 1-2 ตัวเท่านั้น โดยแร้งจะร่อนมากับลมหนาวตั้งแต่เดือนธันวาคม มีรายงานพบที่จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบุรี นครราชสีมา ระยองและจันทบุรี
และล่าสุดที่จังหวัดกำแพงเพชร มีอาการอ่อนแรงกางปีกบินไม่ได้ ทางนายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้ทำการรักษาในเบื้องต้นเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ตั้งชื่อเล่นว่า #น้องช้าง และจะส่งต่อไปพักฟื้นร่างกายให้สมบูรณ์ที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ
แร้งดำหิมาลัย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562