จับตา โควิด-19 วิกฤติหนักอีกรอบ จังหวัดเดียวป่วยพุ่ง 643 ราย
สถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดอีกรอบ จังหวัดเดียวป่วยพุ่ง 643 ราย ตั้งแต่วันที่ 6-12 มกราคม 2567 เฉลี่ยวันละ 91 คน
จากกรณีที่ นายศิริพันธ์ ศรีกองพลี รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศให้แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังและป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากพบว่ามีการระบาดเพิ่มขึ้นหลังช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1ซึ่งมีความรุนแรงและแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น รวมทั้งกำลังเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้
ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (14 มกราคม 2567) นายแพทย์วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การบริหารของนายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเปลี่ยนมาเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคอยู่
จากการรายงานล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 6-12 มกราคม 2567
จำนวน 643 คน หรือเฉลี่ยวันละ 91 คน ซึ่งในจำนวนนี้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 53 คน ทำให้ยอดผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 12 มกราคม 2567
มียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 33,966 คน เสียชีวิตสะสม 76 ราย ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยสะสม ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 1,511 คน โดยรักษาหายแล้ว 1,395 คน ยังเหลือที่ต้องยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล อีก 46 คน
ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ในเกณฑ์รุนแรงน้อย มีบุคลากรดูแล มีเตียงไว้รองรับผู้ป่วยเพียงพอ ปัจจุบันจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล มีอยู่ 1,081 เตียง มีผู้ป่วยอาการรุนแรง ระดับสีแดง ครองเตียงอยู่ 26 เตียง ในขณะที่ยาต้านไวรัสแต่ละชนิด และ Long Acting Antibody มีในสต๊อกเพียงพอ ซึ่งมาตรการป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมการระบาดของโรค ยังต้องใช้มาตรการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่มเสี่ยง สามารถฉีดควบคู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เลย ส่วนประชาชนทั่วไป ควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง ตรวจ ATK ด้วยตนเองเมื่อมีอาการ และสถานประกอบการยังคงต้องใช้มาตรการ COVID Free Setting
อีกทั้ง ต้องเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มประชากรพิเศษ เช่น แรงงานต่างด้าว เรือนจำ โรงเรียน และเตรียมพร้อมมาตรการรักษาพยาบาลให้เพียงพอตามมาตรฐานพัฒนาระบบการเข้าถึงยารักษาโควิด-19 ของประชาชน
ส่วนกรณีสายพันธุ์ที่กรมควบคุมโรคตรวจพบขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งเป็นเชื้อที่กลายพันธุ์มาจากโอมิครอน ซึ่งเป็นเชื้อที่แพร่ระบาดแล้วทำให้ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม แต่ทำให้มีอาการรุนแรงน้อย ยังสามารถมาตรการป้องกันแบบเดิมได้อยู่ และจากการสุ่มตรวจเชื้อของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือมีอาการผิดปกติแต่ละราย ก็ยังไม่พบสายพันธุ์ JN.1ในพื้นที่ และตอนนี้แนวโน้มการแพร่ระบาดยังทรงตัว อาการป่วยรุนแรงน้อยลง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยง 608 จำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ผู้ดูแลต้องพากลุ่มเสี่ยงไปฉีดวัคซีนป้องกัน ส่วนประชาชนทั่วไปก็ควรร่วมด้วยช่วยกัน โดยการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกัน ก็จะช่วยไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดได้