ด่วน! เปิดคำวินิจฉัย ศาลรธน. "ทิม พิธา" - "ก้าวไกล" เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการกระทำของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" - "พรรคก้าวไกล" หาเสียงแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
จากกรณี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงการณ์ด้วยวาจาในคำวินิจฉัยส่วนตนทั้ง 9 คน พร้อมประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในคำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลวินิจฉัยการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง โดยวันนี้ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ได้เดินทางมาฟังศาลอ่านคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง ขณะที่ผู้ถูกร้องนายพิธาและนายชัยธวัช มอบหมายทีมทนายมาฟังแทน
ล่าสุด วันนี้ (31 ม.ค.67) เมื่อเวลา 14:00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย พิธา - ก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง สั่งหยุดการกระทำ ห้ามแก้ ประมวลกฎหมายอาญาม.112 ชี้มีพฤติการณ์เสื่อมทราม เซาะกร่อน บ่อนทำลาย ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีที่ นายธีรยุทธ์ สุนทรเกษร ทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. …
เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิฉัยว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา) และผู้ถูกร้องที่2 (พรรคก้าวไกล) มีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพื่อการเรียกร้องให้มีการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไข ม.112 และใช้เป็นนโยบายพรรค มีลักษณะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ
หากยังปล่อยให้ ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กระทำการต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงเป็นการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก ม.112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข ม.112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติต่อไปในอนาคตด้วย