บุกทลาย โกดัง "เยลลี่องุ่นเคียวโฮ" ยึดของกลางเสี่ยงปนเปื้อน 4 หมื่นชิ้น
บุกทลายรวบแหล่งจำหน่ายขนมเยลลี่องุ่นเคียวโฮออนไลน์ ตรวจยึดของกลางเสี่ยงปนเปื้อนกว่า 4 หมื่นชิ้น รวมมูลค่ากว่า 3 แสนบาท
จากกรณีที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ชัฎฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ, พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. ปฏิบัติการทลายแหล่งจำหน่ายขนมเยลลี่องุ่นเคียวโฮออนไลน์ ตรวจยึดขนมเยลลี่องุ่นเคียวโฮสีต่างๆ จำนวน 41,280 ชิ้น รวม 19 รายการ มูลค่ากว่า 380,000 บาท
สืบเนื่องจาก ปรากฏการรีวิวผ่านสื่อโซเชียล ในการจำหน่ายขนมเลียนแบบเยลลี่องุ่นในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งเป็นเยลลี่ที่บรรจุในถุง คล้ายถุงมือยางหรือลูกโป่งมัดเป็นลูกกลม เมื่อต้องการรับประทานต้องใช้ไม้จิ้มฟันปลายแหลมจิ้มถุงที่หุ้มให้แตกออกแล้วรับประทานขนมเยลลี่ที่อยู่ด้านใน หรือที่เรียกว่า “ขนมเยลลี่องุ่นเคียวโฮ” ซึ่งขนมดังกล่าวเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นนักเรียน และวัยรุ่น
โดยมีการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการซื้อมารับประทาน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีเลขสารบบอาหาร (อย.) จึงไม่สามารถทราบถึงมาตรฐาน ส่วนประกอบ และกระบวนการผลิตได้ ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศเตือน ให้ระมัดระวังการบริโภคผลิตภัณฑ์ขนมเยลลี่องุ่นเคียวโฮที่ไม่มีเลข อย. ซึ่งหากผู้บริโภคซื้อไปรับประทานอาจทำให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารอันตรายจากการผลิต ในเด็กเล็กอาจเสี่ยงให้ติดคอ ขาดอากาศหายใจได้
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงทำการสืบสวนการจำหน่ายขนมเยลลี่องุ่นเคียวโฮผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ พบการจำหน่ายขนมเยลลี่ดังกล่าวผ่าน เพจเฟซบุ๊ก ชื่อ ขนม ขนมนำเข้า NISA SHOP จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงแหล่งจัดเก็บสินค้า
ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นเข้าตรวจค้น สถานที่จัดเก็บสินค้า ในบ้านพักอาศัยหลังหนึ่งใน ต.บางโทรัด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร พบ น.ส.วรรณิสา (สงวนนามสกุลจริง) แสดงตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ตรวจยึด
1. เยลลี่องุ่นเคียวโฮ สีม่วง จำนวน 32,880 ชิ้น
2. เยลลี่องุ่นเคียวโฮ สีเขียว จำนวน 8,400 ชิ้น (รวม 41,280 ชิ้น) พร้อมตรวจยึดขนมอื่นๆ ที่ต้องสงสัยว่าเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวม 19 รายการ
จากการสอบถาม น.ส.วรรณิสา (สงวนนามสกุลจริง) รับว่า ได้จำหน่ายขนมเยลลี่องุ่นเคียวโฮ ที่ไม่แสดงเลขสารบบอาหาร (ไม่ผ่าน อย.) โดยโฆษณาขายสินค้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก และกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นแม่ค้าทั่วไป ที่จะซื้อ ครั้งละปริมาณเป็นลัง เพื่อนำไปจำหน่ายแก่ผู้บริโภคต่ออีกทอดหนึ่ง โดยซื้อขนมเยลลี่องุ่นเคียวโฮมาจากร้านค้าในย่านสำเพ็ง ในปริมาณหลายลัง ราคาลังละประมาณ 1,400 บาท และขายต่อในราคาลังละประมาณ 1,700 บาท โดยทำมาแล้วเป็นเวลา 1 เดือน
ทั้งนี้ ขนมเยลลี่องุ่นเคียวโฮ และขนมที่ตรวจยึด ดังกล่าว จะมีการนำส่งตรวจวิเคราะห์หาสารต้องห้ามในการผลิตขนม ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฐาน "จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง" ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. ขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อนจำหน่าย หากพบไม่มีเลขสารบบอาหารอย่าซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนได้ เนื่องจากไม่ทราบแหล่งผลิตที่ใดและแหล่งผลิตนั้นมีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยปฏิบัติการดังกล่าว เป็นผลมาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศเตือนให้ระมัดระวังการบริโภคผลิตภัณฑ์ขนมเยลลี่องุ่นเคียวโฮทางออนไลน์ ซึ่งไม่มีเลข อย. ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงได้รับอันตราย
โดยหลังจากประกาศแล้ว ยังพบเห็นว่ามีการจำหน่ายตามช่องทางต่าง ๆ อย่างแพร่หลายจึงนำมาสู่การกวาดล้างในครั้งนี้ และขอฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์
เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที
หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา