แพทย์มช. เปิดข้อมูลชัด คนไทยภาคไหนเป็น "มะเร็งปอด" มากที่สุด
รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล เปิดข้อมูล ปมปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เผยชัด คนไทยภาคไหนเป็น "มะเร็งปอด" มากที่สุด
เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่น่าห่วงมากในตอนนี้ สำหรับ PM2.5 ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นต้นตอของมะเร็งปอด โดยล่าสุด รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ออกมาเผยข้อมูลว่า
จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในภาคเหนือที่สะสมมายาวนานกว่า 10 ปี และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยของโรงพยาบาล ในช่วงที่เกิดฝุ่นPM2.5 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากการเปรียบเทียบอัตราการตายของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2553-2564 ระหว่าง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ พบว่าภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด
นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งปอดในคนหนุ่มสาวของประชากรภาคเหนือสูงกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 เนื่องจากมีงานวิจัยที่รองรับทั่วโลกแล้วว่าการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด ได้อย่างมีนัยสำคัญ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางด้าน นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุ Update PM2.5 และมะเร็ง
วารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง Anticancer Research ฉบับเดือนเมษายน 2024 เผยแพร่บทความทบทวนหลักฐานวิชาการเกี่ยวกับผลของฝุ่นละออง PM2.5 กับมะเร็ง
นอกจากการสัมผัสกับ PM2.5 จะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาระบบทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผลลัพธ์ต่อทารกในครรภ์แล้ว ยังส่งผลทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งหลายหลายชนิด ทั้งมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก ฯลฯ
- การสัมผัส PM2.5 เป็นระยะเวลานานนั้น พบว่าทำให้เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่างๆ ได้มากขึ้น 1.22 เท่า
โดยหากดูข้อมูลเจาะลึกรายอวัยวะ จะพบว่า เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตจากมะเร็งปอด 1.36 เท่า มะเร็งเต้านม 1.8 เท่า มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร 1.35-1.42 เท่า
ทั้งนี้หากค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 รอบสามปีนั้นเพิ่มขึ้นทุก 10 μg/m3 จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากขึ้น 1.16 เท่า
ดังนั้นในพื้นที่ที่ประสบปัญหา PM2.5 เป็นระยะเวลานาน ประชาชนจึงจำเป็นต้องหาทางป้องกันตัว ทั้งเรื่องใส่หน้ากาก การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ การปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินชีวิตประจำวัน เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และลดระยะเวลาที่ตนเองจะต้องสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ให้สั้นลงเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงการหมั่นประเมินสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปตรวจรักษา
ในขณะเดียวกัน นโยบายด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม พาณิชย์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาเพื่อกำจัดต้นตอฝุ่น PM2.5 ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ