"ทนายหงส์" ช่วยไขข้อสงสัยหลักฐานอะไรบ้าง ใช้ฟ้องร้องคดีกู้ยืมได้
"ทนายหงส์" หัทยา อั้นเต้ง ช่วยไขข้อสงสัย รวมหลักกฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืม หลักฐานอะไรบ้าง ใช้ฟ้องร้องคดีกู้ยืมได้
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 67 ทางด้านทนายหงส์ ได้ให้ความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืม ฉบับครบ ผ่านเฟซบุ๊ก ทนายหงส์ หัทยา อั้นเต้ง โดยระบุว่า "รวมหลักกฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืม ฉบับครบ"
หลักฐานในการฟ้องร้องคดีกู้ยืม
กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
“การกู้ยืมกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ดังนั้น หลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะต้องมีในการฟ้องร้องดำเนินคดีคือเอกสารที่ลงลายมือชื่อลูกหนี้ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดว่าฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้เลย นั้นคือหลักกฎหมาย
แต่ในปัจจุบัน
- แชตบนแอปฯ ที่มีระบบยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้ facebook messenger หรือ application line หรือ
- ที่รู้ชื่อบัญชีผู้สนทนา รู้ว่าใครยืม ใครเป็นผู้ให้ยืม
- ข้อความสนทนา เช่น จะยืมจำนวนเท่าไหร่ จะคืนเมื่อไหร่
- หลักฐานการโอน statement หรือสลิปการโอน ต่างๆ เหล่านี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดีได้
พยานหลักฐานแห่งการกู้ยืม ไม่จำเป็นที่จะต้องทำขึ้นเป็นกระดาษเสมอไป จะทำขึ้นบนวัตถุใดๆ ก็ตาม ก็สามารถที่จะนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้ หากปรากฏข้อความเป็นตัวอักษร สามารถสื่อสารกันได้ว่า เป็นการกู้ยืมกันระหว่าง และที่สำคัญผู้กู้ยืมได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม ตามมาตรา 653 วรรคแรกแล้ว
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2544
- มาตรา 4 ให้ความหมายของ คำว่า “ธุรกรรม” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ หรือในการดำเนินงานของรัฐตามที่กำหนดในหมวด 4
คำว่า “อิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน และให้หมายความรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสง วิธีการทางแม่เหล็ก หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิธีต่าง ๆ เช่นว่านั้น และ
คำว่า “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
- มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ”
****คำพิพากษาฎีกาที่ 6757/2560 เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ประชดลูกหนี้โดยการปลดหนี้ให้ในแชท (chat) สนทนา ศาลฎีกาได้นำหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้บังคับโดยตีความว่าการปลดหนี้ในแชท (chat) ในเครือข่ายออนไลน์ เป็นการปลดหนี้โดยได้ทำเป็นหนังสือ จึงมีผลเป็นการปลดหนี้ที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
โดยสรุป การกู้ยืมโดยส่งข้อความสื่อสารกันผ่านทางไลน์ (LINE) หรือทางเฟสบุ๊ค (Facebook) นั้น ถือได้ว่าข้อความนั้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นการยืนยันและลงลายมือชื่อในตัวถือเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดีได้แล้ว