ญาติ "ลุงกำธร" ตกท่อดับ เอาเรื่องถึงที่สุด ฟ้องเรียกเงินเยียวยา 10 ล้าน
ญาติ รับศพ "ลุงกำธร" พลัดตกท่อร้อยสายไฟฟ้าของ กฟน. ลึก 15 เมตร เสียชีวิต เตรียมฟ้องร้องเรียกเงินเยียวยา 10 ล้านจากกฟน. ลั่นเป็นบทเรียน
วันที่ 4 พ.ค.67 เมื่อเวลา 11.30 น.ที่ สถาบันนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลตำรวจ ทางญาติได้เดินทางมาขอรับ "ลุงกำธร" วัย 59 ปี ที่เดินพลัดตกท่อร้อยสายไฟฟ้าของ กฟน. ลึก 15 เมตร ใกล้ซอยลาดพร้าว 49 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำร่างไปประกอบพิธีทางศาสนา สวดพระอภิธรรมศพ ที่ ศาลา 16 วัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 วัน และจะทำพิธีฌาปนกิจ วันจันทร์ เวลา 17.00 น. พร้อมเตรียมฟ้องเรียกค่าเยียวยา 10 ล้านบาท
โดยญาติ "ลุงกำธร" กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานได้ติดต่อเข้ามาเพื่อแสดงความเสียใจ ทั้ง ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โทรมาขอโทษและมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้เล็กน้อย ไปจนถึง สส.เขตวังทองหลาง พรรคก้าวไกล และเลขานุการนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อช่วยประสานให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ครอบครัว อีกทั้งยังมีบุคคลที่รู้จักที่จะเข้ามารับผิดชอบค่าใช้จ่ายในงานศพให้ทุกบาททุกสตางค์
ในส่วนของการไฟฟ้านครหลวงนั้น ตอนแรก เลขานุการของนายฐิติวุฒิ เงินคล้าย รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง ติดต่อมาว่าแสดงความเสียใจและจะเดินทางมาร่วมงานศพนายกำธร แต่ภายหลังได้ติดต่อกลับมาว่า ทางเลขานุการจะเดินทางไปแทน อีกทั้งจนถึงตอนนี้ การไฟฟ้านครหลวงยังไม่ได้มีการพูดคุยกับครอบครัวเพื่อขอโทษและเรื่องของการเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเพิ่มเติมว่า มองอย่างไรจากกรณีที่ก่อนหน้านี้ ทางรองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวงให้สัมภาษณ์ว่าจะให้การรับผิดชอบและร่วมงานด้วยตนเองนั้น แต่กลับให้ตัวแทนมาร่วมงานแทน นายกำพลมองว่า เป็นเพียงแค่การสัมภาษณ์ออกสื่อเฉยๆ ไม่รู้ว่าเป็นความจริงใจจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้หรือไม่ พวกเขาคงอาจจะคิดว่า ผู้ใหญ่ให้ลูกน้องมาแล้วทุกอย่างจะจบเงียบ
ถามว่ายังคงมีความหวังว่าการไฟฟ้านครหลวงจะแสดงความจริงใจที่จะให้การรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ นายกำพลระบุว่า คงต้องหวังพึ่งพาบรรดานักการเมืองให้เป็นกระบอกเสียงแทน มิเช่นนั้นกลัวว่าหากเรื่องจบ กระแสจบ แล้วทุกอย่างจะเงียบหายไป
ส่วนถ้าหากว่าการไฟฟ้านครหลวงได้ขอโทษอย่างจริงจัง ทางครอบครัวจะให้อภัยหรือไม่ นายกำพลกล่าวว่า จะให้อภัยได้อย่างไร โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทางครอบครัวติดใจและต้องการให้รับผิดชอบ เพราะควรจะต้องดำเนินการก่อสร้างและปิดท่อดังกล่าวให้ดีพอ การเพียงแค่นำแผ่นไม้มาแปะปิดฝาท่อเป็นเพียงการขอทำไปที
เพราะแผ่นไม้ดังกล่าวนั้นไม่สามารถรองรับน้ำหนักอะไรได้เลย หากเป็นเด็กที่มีน้ำหนักไม่ถึง 10 กิโลกรัม ก็อาจจะมีสิทธิ์ร่วงลงไปได้เช่นเดียวกัน กอปรกับแผ่นไม้เจอความชื้นของน้ำและมีดินไหลมาทับ เลยทำให้แผ่นไม้เสื่อมได้เร็วมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่พอหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเอาแผ่นปูมาปิด แสดงว่าพวกคุณก็มีวัสดุที่สามารถมาปิดท่อได้ แต่พวกคุณไม่คิดจะทำ อีกทั้งมองว่า หากกลัวฝาท่อจะหาย ทำไมถึงไม่ติดกล้องวงจรปิด แสดงว่าที่ผ่านมาไม่คิดจะรับผิดชอบหรือทำอะไรเลย ทั้งที่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นงบประมาณแผ่นดินจากประชาชนทั้งสิ้นและหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ตนก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรเช่นเดียวกัน
"สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนให้การไฟฟ้านครหลวงที่ต้องออกมารับผิดชอบและเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนการทำท่อร้อยสายไฟ แต่บางทีอาจจะเป็นความโชคร้ายของนายกำธรที่มาเดินข้ามและเหยียบแผ่นไม้พอดี เพราะปกติเวลาเขาข้ามถนนจะข้ามบริเวณหน้าบ้านซึ่งไม่มีการวางแนวท่อแต่อย่างใด หลังจากนี้ทางครอบครัวจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายให้ถึงที่สุด เพราะการสูญเสียนายกำธรนั้น สร้างความสะเทือนใจให้กับครอบครัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมานายกำธรจะเป็นคนที่คอยดูแลพี่สาวคนโตอีก 2 คน ซึ่งหลังจากนี้ตนจะต้องเข้ามาดูแลพี่สาว 2 คนแทน ทำให้ครอบครัวนะตอนนี้ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมากขึ้น เพราะตนก็มีหน้าที่การงานและอีกหลายชีวิตที่ต้องดูแล นายกำพลพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ปกติวันเสาร์อาทิตย์จะมารับผู้ตายไปหาอะไรทาน แต่หลังจากนี้ไม่มีเขาอยู่แล้ว ตนมองว่าต่อให้ได้เงินทองมามากเพียงใด ก็ไม่สามารถชดเชยกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้" ญาติ "ลุงกำธร" กล่าว
ส่วนเรื่องการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้มีการหารือกับคนในครอบครัวและเพื่อนแล้ว ลงความเห็นว่าจะฟ้องร้องเยียวยาค่าเสียหายกับการไฟฟ้านครหลวงเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท เพราะเป็นวงเงินสูงสุดที่จะสามารถฟ้องร้องได้ แต่เชื่อว่าคงมีการเจรจาต่อรองกัน ซึ่งตนเองอยากให้เห็นใจทางครอบครัว โดยเฉพาะพี่สาวคนโตที่ปกติจะอยู่กับผู้เสียชีวิตด้วยกัน 2 คนมาตลอด แต่หลังจากนี้พี่สาวซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานกับความดัน คงจะต้องอยู่เพียงลำพัง