GISTDA เผยจุดเริ่มต้นพายุสนามแม่เหล็กโลก ที่รุนแรงระดับสูงสุด
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เผยจุดเริ่มต้นพายุสนามแม่เหล็กโลก ที่รุนแรงระดับสูงสุด
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 67 ทางด้านเฟซบุ๊ก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เผยว่า จุดเริ่มต้นพายุสนามแม่เหล็กโลกที่รุนแรงระดับสูงสุด
ดวงอาทิตย์ที่อยู่ห่างจากโลกระยะทางกว่า 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 1 AU แม้จะดูห่างไกล แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ส่งผลต่อสภาวะอวกาศ (Space weather) และกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ
ตามที่ GISTDA เริ่มติดตามบริเวณที่มีการปะทุ AR 3664 ของดวงอาทิตย์ที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง หลายสำนักข่าวนานาชาติ ตั้งชื่อบริเวณนี้ว่า “monster sunspot region” ตามภาพที่1 บริเวณนี้มีการปะทุรุนแรงและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา บริเวณนี้ได้ปล่อยเปลวสุริยะ (solar flare) ระดับความรุนแรงสูงสุด (X class) ทั้งหมด 7 ครั้ง ตามภาพที่ 2
การปะทุทำให้เกิดการปลดปล่อยมวลโคโรนา ส่งผลให้เกิดลมสุริยะ (Solar wind) และพายุสนามแม่เหล็กโลกตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา โดยปกติ จากข้อมูลของ NOAA ลมสุริยะมีความเร็วประมาณ 300-500 km/s มีความเร็วสูงขึ้นสูงสุดไปที่ประมาณ 1,000 km/s และค่าสนามแม่เหล็กรวม (Bt) จากเดิมอยู่ในระดับต่ำกว่า 10 nT และเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 74 nt (ตามภาพที่ 3) จากข้อมูลล่าสุดจาก NOAA ค่าสนามแม่เหล็กมีแนวโน้มลดลง แต่ความเร็วของลมสุริยะยังอยู่ในระดับสูง แต่ข้อมูลจากแบบจำลอง (ตามภาพที่ 4) คาดการณ์ว่าความรุนแรงของลมสุริยะมีแนวโน้มลดลง
ผลกระทบสำหรับประเทศไทย :
ค่าสนามแม่เหล็กโลกบริเวณประเทศไทย จากการวิเคราะห์ข้อมูล local K index ตั้งแต่วันที่ 9 -11 พฤษภาคม 2567 ช่วง 3 วันที่ผ่านมา ค่า local K-index ขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ระดับ 9 หรือ G5 โดยมีความรุนแรงขั้นสูงสุดของพายุสนามแม่เหล็กโลก (Extreme level) ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ในช่วงเวลา 11:00 - 16:00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสส่งผลกระทบกับดาวเทียมที่โคจรในอวกาศ ระบบการสื่อสาร และระบบนำร่อง อาจจะถูกรบกวนหรือไม่สามารถสื่อสารได้ชั่วคราว (ดังภาพที่ 5) (อยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว)
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา หลายประเทศที่อยู่ละติจูดที่สูงสามารถมองเห็นแสงเหนือหรือออโรร่าด้วยตาเปล่าและมีสีสันหลากหลายมากกว่าปกติ เนื่องจากพายุสนามแม่เหล็กโลกที่เกิดขึ้นในระดับสูง (ดังภาพที่ 6)