DSI ตรวจพบ หมูเถื่อนกว่า 460 ตัน ถูกทิ้งร้างไม่มีเจ้าของ
DSI ร่วมกับศุลกากร-แหลมฉบัง เปิดตู้คอนเทนเนอร์ไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของ พบซากสัตว์ไม่ขออนุญาตนำเข้ากว่า 460 ตัน เร่งสอบสวนหาเจ้าของ
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 67 เวลาประมาณ 10.30 น. "DSIยึดหมูเถื่อน" กว่า 460 ตัน โดยทางด้าน พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจตรี ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก ชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค เลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 127/2566 กรณีลักลอบนำเข้าสุกรและชิ้นส่วนไก่ฯ
และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง พร้อมด้วยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบตู้สินค้าที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการสำรวจของค้างบัญชีเรืออยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกำหนดเวลา 30 วัน ที่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิ เพื่อให้มีการชำระอากรหรือวางประกันค่าอากรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด พบว่าสินค้า จำนวน 16 ตู้คอนเทนเนอร์ ที่แสดงรายการนำเข้าเป็นสินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกรและเครื่องในสุกรแช่แข็ง ไม่มีหลักฐานการขออนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ และยังพบว่าสินค้าบางรายการโดยเจตนาสำแดงข้อมูลรายการในใบขนสินค้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรและหลีกเลี่ยงข้อจำกัด
อธิบดีกรมศุลกากรจึงได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดฐาน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากร ที่ต้องเสียสำหรับของนั้นๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เป็นคดีพิเศษที่ 127/2566 จึงเป็นที่มาของการเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบในวันนี้
จากการเปิดตู้สินค้า จำนวน 16 ตู้คอนเทนเนอร์ และตรวจพบเพิ่มเติมอีก จำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมเป็นจำนวน 17 ตู้คอนเทนเนอร์ พบว่าเป็น สินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกร และเครื่องในสุกรแช่แข็ง น้ำหนักรวมประมาณ 460 ตัน คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวตามที่กรมศุลกากรได้ทำการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อไป