เฉลยชัด "จอดรถตากแดด" ทำฟิล์มติดไฟได้จริงหรือไม่
อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาตอบชัดแล้ว "จอดรถตากแดด" ทำให้ฟิล์มติดไฟ จนรถไฟไหม้ ได้จริงหรือไม่
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ทำเอาหลายๆ คน ต่างตกใจอย่างมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ไหม้รถยนต์ "จอดรถตากแดด" ทำให้ฟิล์มติดไฟได้จริงหรือไม่ หลังจากที่จอกรถตากแดด อุณหภูมิภายในรถที่จอดตากแดด ในช่วงเที่ยงวัน ร้อนจัด ก็จะอยู่ที่ประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นนี้ พร้อมระบุว่า
"ฟิล์มติดรถยนต์ จอดตากแดด ติดไฟเองไม่ได้ครับ"
เมื่อกี้นักข่าวไลน์มาถาม เกี่ยวกับคลิปวิดีโอที่แชร์กัน เป็นรถยนต์นิสสันอัลเมร่าสีเทา กำลังมีไฟลุกไหม้ โดยมีควันออกมาทางกระจกหน้า ก่อนจะลามไปด้านข้างรถ.. โดยในคลิป มีเสียงคนบอกว่า ไฟไหม้ฟิล์ม(ติดรถ) รีบเข้าไปดับไฟเร็ว
คลิปนี้ไม่มีข้อมูลอื่นเพิ่มเติมเลย แต่ถ้าพิจารณาเรื่อง "ตากแดดร้อน จนไฟไหม้ฟิล์มรถ" อันนี้เป็นไปไม่ได้ครับ
องค์ประกอบหลักของฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ มักจะเป็นพลาสติกประเภทโพลีเอสเตอร์ (polyester) ซึ่งถ้าจะติดไฟ จะต้องใช้อุณหภูมิประมาณ 450 องศาเซลเซียส เลยทีเดียว !
ที่เป็นไปได้มากกว่า คือน่าจะมีข้าวของบางอย่าง วางไว้ตรงคอนโซลหน้า และเกิดลุกไหม้ติดไฟขึ้น จนกระจกหน้าแตกร้าว และทำให้ควันพุ่งออกมาด้านหน้า จนดูเหมือนกันว่าฟิล์มกระจกติดไฟเอง
จากภาพประกอบคลิปด้านในรถ ก็พบว่ามีการเผาไหม้รุนแรง จนทำให้คอนโซลหน้ารถกลายเป็นหลุมเลย (แต่รอฟังข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีอะไรตรงนั้นมั้ย)
อย่างไรก็ตาม สิ่งของที่เคยมีรายงานว่าติดไฟเอง ในรถที่จอดตากแดดร้อนๆ ได้แก่ ไฟแช็ก เพาเวอร์แบงค์ สเปรย์กระป๋อง ลูกโป่งอัดก๊าซ ฯลฯ ยังไงก็ระวังกันด้วยนะครับ
ดังนั้น การจอดรถตากแดด ไม่ได้ เป็นสาเหตุหลักของไฟไหม้ฟิล์ม แต่ ควรระวัง วัตถุไวไฟภายในรถ และเลือกติดฟิล์มจากร้านที่มีมาตรฐาน
เพื่อความปลอดภัย
ควรจอดรถในที่ร่ม
เก็บวัตถุไวไฟออกจากรถ
เลือกติดฟิล์มจากร้านที่มีมาตรฐาน
ตรวจสอบสภาพฟิล์มอยู่เสมอ
กรณีมีเหตุเพลิงไหม้
ตั้งสติ
รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง
พยายามดับไฟด้วยถังดับเพลิง
หลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟ