"หมอหมู" เตือน วัยรุ่นอาหาร 2 ประเภท เสี่ยงมะเร็งลำไส้
"หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี เตือน วัยรุ่นอาหาร 2 ประเภท อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในวัยหนุ่มสาว
"มะเร็งลำไส้" เป็นโรคร้ายแรงที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบได้เร็ว การรับรู้ถึงสัญญาณเตือนและปัจจัยเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ ล่าสุด "หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความในหัวข้อ เตือน! วัยรุ่นเสี่ยงมะเร็งลำไส้ เชื่อมโยงกับอาหาร 2 ประเภท ระบุว่า
การศึกษาวิจัยใหม่ได้ออกคำเตือนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร 2 ประเภท ที่อาจเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในกลุ่มคนหนุ่มสาว
นักวิทยาศาสตร์จากคลีฟแลนด์คลินิกซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ป่วยมากกว่า 60 ราย เพื่อพิจารณาผลกระทบของ "สารเมตาบอไลต์" ต่อการพัฒนาของโรคที่กลายพันธุ์ของเซลล์ซึ่งมีต้นกำเนิดในลำไส้ใหญ่
โดยสรุปแล้ว "เมตาบอไลต์" หมายถึง โมเลกุลที่ผลิตขึ้นในระหว่างกระบวนการเผาผลาญ ซึ่งมักได้มาจากอาหารและเครื่องดื่มที่เราบริโภค สิ่งที่น่ากังวลคือ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าเมตาบอไลต์ที่เกี่ยวข้องกับ “เนื้อแดง” และ “เนื้อแปรรูป” อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในวัยหนุ่มสาว นักวิจัยแนะนำให้ปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกด้านอาหารของคุณ ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการป้องกันมะเร็งประเภทนี้
ตามข้อมูลของ Royal Marsden NHS Foundation Trust ระหว่างช่วงปี 1990 จนถึงปี 2018 พบว่าจำนวนหนุ่มสาวที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงถึง 22% ในสหราชอาณาจักร
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ของหนุ่มสาวในอนาคต อาจต้องใช้วิธีตรวจวัดไบโอมาร์กเกอร์ที่กำหนดความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากนั้น จึงสามารถใช้การตรวจคัดกรองที่เหมาะสมกับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงสุดได้ ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่สามารถส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในวัยรุ่นหนุ่มสาวทุกคนเพื่อทำการตรวจเป็นประจำทุกปี
ขอบคุณ หมอหมู รศ.นพ.วีระศักดิ์