สามีใจสลายเผยผลตรวจ สาวโรงงานขอลาป่วยไม่ได้ ฝืนมาทำงานจนเสียชีวิต
สามีใจสลายเผยผลตรวจก่อนสิ้นลม สาวโรงงานขอลาป่วยไม่ได้ หัวหน้ากดดันให้เอาใบรับรองแพทย์มายื่น ฝืนมาทำงานจนเสียชีวิต
สาวโรงงานฝืนทำงานจนเสียชีวิต กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ตอนนี้ หลังจากที่ เพจเฟซบุ๊ก "หนุ่มสาว-โรงงาน" ได้โพสต์ภาพแชทการสนทนาในกลุ่มไลน์ของบริษัทแห่งหนึ่ง กลุ่มเพื่อนร่วมงานพูดคุยกรณี มีพนักงานคนหนึ่งมาขอลาป่วยเพิ่ม แต่ทางหัวหน้ากดดันให้เอาใบรับรองแพทย์มายื่นด้วย สุดท้ายทราบว่าพนักงานคนดังกล่าว เสียชีวิตแล้ว
โดย ทางแอดมินเพจเฟซบุ๊กหนุ่มสาว-โรงงานซึ่งมีคนติดตามกว่า 1.9 แสนคน สรุปเรื่องราวเบื้องต้นว่า น้องที่เสียชีวิต อายุ 30 ปี ไม่สบายไปหาหมอแล้ว 1 รอบ เข้าวันที่ 5 ออกจาก รพ. วันที่ 9 รอบแรกลาได้ปกติ ช่วงที่ลาก็ส่งใบรับรองแพทย์ตลอด แต่ปัญหามาอยู่ที่การลารอบที่ 2 ก็คือวันพฤหัสบดีที่ 12 ที่ผ่านมา หลังจากออกจากโรงพยาบาลมาไม่กี่วัน อาการทรุดลงอีก ไม่แน่ใจว่าหัวหน้าอาจจะมองว่าอะไร จึงไม่ให้ลา
แต่เพื่อนร่วมงานที่ส่งแชทมาให้แอดมิน ต้องการจะสื่อสารว่า หัวหน้าไม่ให้ลาจริงๆ น้องต้องลากสังขารมาทำงาน ทั้งที่ไม่สบายอยู่ หลังจากเลิกงานวันนั้นน้องก็ไปหาหมอ แล้วก็ไม่ได้ตอบไลน์กลุ่มที่หัวหน้าถามเรื่องใบรับรองแพทย์ จนมีเพื่อนในกลุ่มมาตอบแทน ว่าน้องเสียชีวิตแล้ว ที่หลายคนโกรธคือ ทำไมหัวหน้าไม่ให้น้องลาป่วย ต้องทนอยู่จนเลิกงาน จนไปหาหมอช้า
พร้อมกันนี้ สามีของผู้เสียชีวิต เล่ากับเที่ยงวันทันเหตุการณ์ว่า ภรรยามีอาการ ลำไส้ใหญ่อักเสบ หมอก็ให้ยาและให้ออกมาพักฟื้นที่บ้าน แต่พักได้วันเดียว วันต่อมาหัวหน้าก็ให้กลับไปทำงาน เราก็ถามแล้วถามอีกว่าไหวไหม ถ้าไม่ไหวก็อย่าไปทำงานเลย แต่เขาก็บอกว่าจำเป็นต้องไป แต่พอไปทำงานแล้ว เพื่อนร่วมงานก็โทรมาบอกตนว่า ภรรยาตัวเย็นมาก ต้องนำส่งโรงพยาบาล
ก่อนจะมาทราบอีกครั้งว่าภรรยาอาการทรุด มีหนองในช่องท้องจำนวนมาก ต้องผ่าตัดด่วนเพื่อระบายหนองออกมา แต่สุดท้ายก็ยื้อไม่ไหว ไม่ทัน ภรรยาเสียชีวิต หลังเกิดเรื่อง ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับทางบริษัท หรือหัวหน้าของภรรยา อยากถามเหมือนกันว่า ทำไมถึงต้องให้เขาไปทำงานด้วย ในเมื่อเขาป่วยขนาดนี้
อย่างไรก็ตามด้าน ทนายแก้ว ชี้ว่า เรื่องนี้ตามกฎหมาย นายจ้างต้องอนุญาตให้ลูกจ้างลาป่วยได้ ต่อให้จะลาป่วยครบ 30 วันในหนึ่งปีไปแล้ว แต่ถ้าลูกจ้างป่วยจริงก็ต้องให้ลา ในส่วนว่าจะเป็นการกระทำการโดยประมาทจนทำให้ลูกจ้างเสียชีวิตหรือไม่ ต้องไปพิสูจน์กันด้วยหลักฐานต่อไป แต่ในเบื้องต้น ทางบริษัทต้องรับผิดชอบค่าปลงศพ ตามกฎหมายกำหนดให้จ่าย 50,000 บาท และทางกระทรวงแรงงานก็น่าจะมีการเรียกทางบริษัทเข้ามาสอบถามต่อไปด้วย