“กลุ่มอำพลฟูดส์” รีแบรนดิ้งกางแผนปี 67 ลุยตลาดคนรักสัตว์
“กลุ่มอำพลฟูดส์” กางแผนแผนขยายธุรกิจปี 2567 มุ่งนำนวัตกรรมมาสร้างความแข็งแกร่งเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ อาหารสัตว์เลี้ยง ในไตรมาส 4 รับเทรนด์ Pet Humanization
นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอำพลฟูดส์ เปิดเผยว่า ในโอกาส ที่กลุ่มอำพลฟูดส์ ก้าวสู่ปีที่ 37 บริษัทยังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ในปีนี้ว่าจะมีแรงหนุนจากธุรกิจอาหารยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ตามภาคการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตดี ส่งผลทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจให้บริการแบบจัดเลี้ยง หรือ แคทเทอริง เติบโตตาม เป็นผลบวกต่อภาพรวมธุรกิจอาหารและกลุ่มอำพลฟูดส์ในปีนี้
สำหรับแผนขยายธุรกิจปี 2567 ของอำพลฟูดส์ มุ่ง 2 แกนหลัก คือ 1.กลุ่มสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัท ได้แก่ แบรนด์กะทิชาวเกาะ ผลิตภัณฑ์น้ำแกงพร้อมปรุง รอยไทย และเครื่องดื่ม วี-ฟิท และ กู๊ดไรฟ์ (GOOD LIFE) เครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพ 2.การเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า หรือ ดิสทริบิวเตอร์ ร่วมเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำสินค้ามาขยายตลาด ได้ทำต่อเนื่องมาร่วม 5 ปีแล้ว และมีแบรนด์สินค้าภายใต้การดูแลกว่า 20 แบรนด์
ไฮไลต์สินค้ากลุ่มอาหาร มุ่งนำนวัตกรรมมาสร้างความแข็งแกร่ง วางแผนเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นทางเลือกใหม่สู่ตลาดคนรักสุนัขและแมว ในไตรมาส 4 รับเทรนด์ Pet Humanization หรือ พฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว นับเป็นครั้งแรกที่ได้มาแตกไลน์อาหารสัตว์เลี้ยงและมีแผนขยายสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มเติมในอนาคต
“นอกจากการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ บริษัทยังทุ่มงบลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาทในการขยายกำลังการผลิตโรงงานแห่งที่ 5 ในจังหวัดราชบุรี บนพื้นที่ 80 ไร่ โดยเน้นไลน์การผลิตแบบอัตโนมัติเข้ามาใช้รองรับการขยายตัวของธุรกิจทั้งในกลุ่มสินค้าใหม่และสินค้าเดิม โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท และคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 ปี”
พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมงบประมาณการลงทุน 5 ปีนับจากนี้ (ปี 2561-2565) ด้วยการใช้เม็ดเงินราว 500 ล้านบาทในการสร้างศูนย์กระจายสินค้าเพิ่ม 50 แห่งทั่วประเทศ และเพิ่มจำนวนรถขนส่งสินค้ากว่า 100 คัน ที่จะไม่ใช่แค่กระจายสินค้าอย่างเดียว แต่จะเป็นศูนย์โลจิสติกส์ที่มีการรับสินค้าจากบริษัทอื่นช่วยกระจายสินค้าได้ เบื้องต้นในปีนี้จะเป็นการลงทุนในเฟสแรก 200 ล้านบาท กับการเปิดศูนย์กระจายสินค้า 20 แห่งในย่านตัวเมืองหรือพื้นที่ไม่ห่างไกลชุมชนมากนัก ซึ่งขณะนี้เปิดไปแล้ว 5 ศูนย์ที่ ขอนแก่น, เชียงใหม่, เชียงราย, นครปฐม, หาดใหญ่ เพื่อรองรับจำนวนสินค้าที่หลากหลายของบริษัท และยังปิดจุดอ่อนของบริษัทในเรื่องการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย โดยบริษัทวางเป้าหมาย 2 ปีนับจากนี้ด้วยการเปิดบริษัทย่อยในเครือเพื่อดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์โดยเฉพาะ
“ที่ผ่านมาแม้จะคิดค้นพัฒนาสินค้าในเครือได้หลากหลายแต่ยังมีจุดอ่อนเรื่องการ กระจายสินค้าดังนั้นแผนงานหลักนับจากนี้คือการทำอย่างไรให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคได้ ซึ่งอดีตบริษัทขายผ่านโมเดิร์นเทรด, ยี่ปั๊วรายใหญ่ ปัจจุบันทำยังไงให้สินค้าลงไปสู่ผู้บริโภคร้านค้ารายย่อยให้มากขึ้น หรือตามต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นโลจิสติกส์เป็นเรื่องสำคัญจึงได้พัฒนาโมเดลนี้ขึ้นมาเรื่องศูนย์กระจายสินค้า และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งการเปิดศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าวจะทำให้เข้าถึงร้านค้ารายย่อยและผู้บริโภคได้มากขึ้น และแต่ละศูนย์จะสามารถเข้าถึงร้านค้าย่อยได้ไม่ตํ่ากว่า 5,000 ร้านค้า จากปัจจุบันบริษัทมีร้านค้าย่อย 4-5 แสนร้านค้า และสามารถสร้างยอดขายสามารถเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 20-30%”
ทั้งนี้การรุกเข้าไปยังธุรกิจโลจิสติกส์นอกจากรถขนส่งสินค้า ที่จะต้องเพียงพอต่อการขนส่งแล้ว จำนวนสินค้าภายในรถที่ต้องเพียงพอคือเรื่องของการเข้าไปถึงร้านค้าโดยตรง เพิ่มความสะดวกให้กับร้านค้าในเครือและเพิ่มโอกาสทางการขาย โดยจะเน้นสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการไปเยี่ยมร้านค้าทุกสัปดาห์ และหากมีปัญหาสินค้าชำรุดหรือไม่สามารถจำหน่ายได้ก็สามารถเปลี่ยนคืนได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นคีย์ซักเซสสำคัญในการสร้างความไว้ใจจนเกิดเป็นความเชื่อถือในตัวบริษัทขึ้น
ขณะที่แผนการสร้างแบรนด์อำพลฟู้ดส์นับจากนี้บริษัทจะเน้นการบริการจัดการตราสินค้าให้มาอยู่ร่วมกัน คืออำพลฟูดส์(APF) เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักมากขึ้น และมีความเชื่อมั่นเมื่อบริษัทพัฒนาหรือแตกไลน์สินค้าออกสู่ตลาด ซึ่งบริษัทมีแผนพัฒนาสินค้าในประเภทอื่นๆ อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารเสริม เป็นต้น
อย่างไรก็ตามบริษัทวางเป้าหมายในช่วง 5 ปีนับจากนี้จะมีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท โดยในสิ้นปีนี้จะมีรายได้กว่า 3,800 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่มีรายได้ 3,000 ล้านบาทแบ่งเป็นยอดขายจากต่างประเทศ 30% ในประเทศ 70% และในอนาคตวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 70% และในประเทศ 30%
ข้อมูลจาก : ฐานเศรษฐกิจ
เรียบเรียงโดย ชาคริตส์ คงหาญ