เปิดตำนานและความหมายของเทศกาลกินเจ 

19 กันยายน 2565

เปิดทุกแง่มอง เกี่ยวกับเทศกาลกินเจ ทั้งความหมายตำนาน รวมไปถึงรายละเอียดการปฏิบัติตัวในการกินเจ ว่ามีวิธีอย่างไรบ้างถึงจะได้ผลมากที่สุด

เปิดตำนานและความหมายของเทศกาลกินเจ 

เทศกาลกินเจ 2565 ปีนี้ จะตรงวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน ถึง วันอังคารที่ 4 ตุลาคม  ซึ่งเทศกาลกินเจของทุกปี ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย ตามปฏิทินสากล รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 9 วัน 9 คืน 

เปิดตำนานและความหมายของเทศกาลกินเจ 

ที่มาและความหมายของเทศกาลกินเจ “เทศกาลกินเจ” เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน ในประเทศจีน ในยุคที่ชาวจีนถูกชาวแมนจูปกครอง และบังคับให้ชาวจีนยอมรับวัฒนธรรมของแมนจู จึงเกิดชาวจีนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านชาวแมนจู โดยใช้หลักธรรมเข้าร่วมคือ การนุ่งขาว ห่มขาว ไม่กินเนื้อสัตว์ และเรียกตัวเองว่า “หงี่หั่วท้วง” ซึ่งเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ จะช่วยเพิ่มอำนาจและความเข้มแข็งให้กับชาวจีน แต่ดันตรงกันข้าม เพราะสุดท้ายชาวจีนพ่ายแพ้ต่อชาวแมนจู อีกทั้งถูกชาวแมนจูสังหารเป็นจำนวนมาก ต่อมาจึงมีการพร้อมใจกันถือศีลกินเจและรำลึกถึงกลุ่ม “หงี่หั่วท้วง” ในทุกวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 จึงกลายมาเป็น “เทศกาลกินเจ” ที่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ 

ความหมายของคำว่าเจ หมายถึง “อุโบสถ” หรือ “การรักษาศีล 8” ตามพุทธนิกายมหายาน จะรวมถึงการไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมเรียกการไม่กินเนื้อสัตว์ว่าการกินเจ คนกินเจจึงจะต้องถือศีลและไม่กินเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม ไม่ว่าจะเป็นกระดูกหรือไขมันก็ตาม จึงมีคำกล่าวว่า “กินเจหนึ่งมื้อ หมื่นชีวิตรอดตาย” โดยผู้คนจะหันมากินผัก แป้ง หรือเต้าหู้แทน นอกจากเนื้อสัตว์ที่ต้องงดเว้นแล้ว ในช่วงเทศกาลการกินเจยังต้องงดผักที่มีกลิ่นฉุน 5 อย่าง ได้แก่ กระเทียม หอม หลักเกียว (คล้าย ๆ หัวกระเทียมโทน) กุยช่าย และยาสูบ 

เปิดตำนานและความหมายของเทศกาลกินเจ 


 

ทำไมเราต้องกินเจ 
  
ความเชื่อที่ 1 โดยเรื่องเล่าที่แพร่หลายมากที่สุด กล่าวกันว่าการกินเจของชาวจีนมีที่มาจากการรำลึกถึงการเสียสละของเหล่านักรบ "หงี่หั่วท้วง" กองกำลังทหารชาวบ้านของจีนฮั่นที่ต่อสู้ต้านทานกองทัพแมนจู เล่ากันว่าในยุคนั้นฝ่ายแมนจูมีปืนไฟของตะวันตกที่ฝ่ายจีนฮั่นไม่มี นักรบหงี่หั่วท้วงเหล่านี้จึงประกอบพิธีกรรมนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลไม่กินเนื้อสัตว์และผักที่มีกลิ่นฉุน รวมถึงบริกรรมคาถาตามความเชื่อของจีน เพื่อให้มีอิทธิฤทธิ์ป้องกันปืนไฟและเพิ่มพลังในการต่อสู้ แต่ก็ไม่ประสบผล ในที่สุดนักรบหงี่หั่วท้วงก็ได้พ่ายแพ้แก่กองทัพแมนจู และเหล่าผู้นำทั้ง 9 คนถูกประหารชีวิตทั้งหมด ชาวจีนฮั่นจึงร่วมกันรำลึกถึงบุญคุณของนักรบชาวบ้านเหล่านี้ด้วยการถือศีลกินผักในเดือน 9 เป็นเวลา 9 วัน ซึ่งกลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน

         ความเชื่อที่ 2 ชาวพุทธนิกายมหายาน เชื่อว่าการถือศีลกินเจ นุ่งขาวห่มขาว และงดเว้นจากการเบียดเบียนทั้งปวง ถือเป็นการถวายสักการะแด่พระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรืออีกนัยหนึ่งคือดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 อีกด้วย ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อเทศกาลกินเจในภาษาจีน หรือจิ่วหวงเย่ ซึ่งแปลว่า "เทพเจ้า 9 พระองค์"

         ความเชื่อที่ 3 สำหรับการกินเจในประเทศไทย เชื่อกันว่าเป็นธรรมเนียมของชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในไทย และพกพาความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือเจ้าแม่กวนอิมเข้ามาด้วย เนื่องจากเจ้าแม่กวนอิมเป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตากรุณา การกินเจ ละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ จึงถือเป็นการสักการะบูชาทั้งพระพุทธเจ้า และเจ้าแม่กวนอิมไปด้วยในคราวเดียว 

นอกจากเนื้อสัตว์แล้ว ห้ามกินอะไรบ้าง

1. ผักที่มีกลิ่นฉุน 5 อย่าง ได้แก่ กระเทียม (ไม่ดีต่อหัวใจ), หอมใหญ่ แดง ขาว ต้นหอม (ไม่ดีต่อไต), หลักเกียว ผักของจีน มีลักษณะคล้ายกระเทียมโทน (ไม่ดีต่อม้าม), กุยช่าย (ไม่ดีต่อตับ) และ ใบยาสูบ (ไม่ดีต่อปอดเมื่อใช้สูบ) นอกจากนี้ผักชนิดไหนที่มีกลิ่นฉุนก็ไม่ควรทานระหว่างช่วงกินเจด้วย

2. นม เนย น้ำมัน และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

3.อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเค็มจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด

4. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

5. ใครที่กินเจจริงจัง ห้ามทานอาหารบนภาชนะที่ใช้ร่วมกับผู้ที่ไม่ได้กินเจ และต้องทานอาหารที่ปรุงจากคนที่กินเจด้วยกันเท่านั้น

กินเจ อาหารที่ทานได้

1.ชา กาแฟ ที่ไม่ใส่นม เนย หรือครีมเทียม

2.วิตามินเสริมอัดเม็ด ที่ไม่มีสารสกัดจากสัตว์

3.ขนมกรุบกรอบ ที่ไม่มีส่วนผสมของสัตว์

4.พริกไทย เป็นสมุนไพร (แต่หากรู้สึกว่ามีกลิ่นฉุน สามารถเลี่ยงได้)

5.ขนมปัง (ที่เป็นขนมปังเจ หรือไม่มีส่วนผสมของนม)

6.มาม่า หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (สูตรเจเท่านั้น)

7.แต่งหน้า และฉีดน้ำหอม (สำหรับคนถือศีล 5 หากถือศีล 8 จะทำไม่ได้)

เปิดตำนานและความหมายของเทศกาลกินเจ