รู้ทันกันโรคและวิธีป้องกันปอดอักเสบ
ปอดอักเสบทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจอึดอัด หายใจลำบาก ระดับความรุนแรงตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต
โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวมเป็นการอักเสบของเนื้อปอดและหลอดลม โดยเกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลัก
1) การติดเชื้อ ได้แก่
. เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อนิวโมค็อกคัส (Pneumococcus)
. เชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสซาร์ส (SARS Virus)
. อื่น ๆ ได้แก่ เชื้อรา พยาธิ ฯลฯ
2) การไม่ติดเชื้อ ได้แก่
. สำลักเศษอาหารเข้าไปในปอด
. หายใจเอาควัน ฝุ่น เข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก
3) การแพ้ภูมิตัวเอง ภูมิต้านทานต่ำ ได้แก่
. ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE)
. ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแฝด เด็กขาดสารอาหาร
. ผู้สูงอายุ
. ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง
. ผู้ป่วยเอดส์
. ผู้ป่วยเบาหวาน
. ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์นาน ๆ
อาการปอดอักเสบสามารถสังเกตได้ดังนี้
. ไอ เหนื่อยหอบ
. มีเสมหะ
. มีไข้สูง อาจตัวร้อนตลอดเวลา หนาวสั่นมาก
. หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว
. อาจเจ็บแปล๊บหน้าอกเวลาหายใจเข้า
. อาจไอแรงร้าวไปที่หัวไหล่หรือสีข้าง
การรักษาโรคปอดอักเสบ
แพทย์จะทำการพิจารณารักษาตามอาการและสาเหตุเป็นหลัก หากเป็นปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่พบและนัดติดตามอาการเป็นระยะ หากอาการไม่ดีขึ้นจำเป็นจะต้องตรวจหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ
ป้องกันปอดอักเสบ
การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอช่วยให้ห่างไกลจากโรคปอดอักเสบ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบคืออีกหนึ่งทางเลือกของการป้องกัน แต่จำเป็นจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจพิจารณาก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ
ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ