วิธีการจัด"ชุดสังฆทาน"ที่ถูกต้องที่สุด หลายบ้านยังทำผิดอยู่
เผยวิธีการจัด"ชุดสังฆทาน"ที่ถูกต้องที่สุดสำหรับการตักบาตรทำบุญ เข้าวัดถวายสังฆทาน แยกเป็นหมวดหมู่หลักๆ เครื่องใช้ที่จำเป็นต่อพระสงฆ์
เครื่องใช้ที่จำเป็นต่อพระสงฆ์
เริ่มกันด้วย “ข้าวของเครื่องใช้” ในชีวิตประจำวันที่ขาดไม่ได้ โดยในส่วนนี้ อาจต้องพิถีพิถันในการเลือกซักนิด เพื่อให้ได้ของใช้จำเป็นที่มีความหลากหลาย ที่สำคัญ เมื่อนำไปถวายแล้ว พระสงฆ์น่าจะได้ใช้งานจริง อาทิ
หมวดทำความสะอาดร่างกาย : สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม มีดโกน ใบมีดโกน
หมวดเครื่องนุ่งห่ม : ผ้าไตรจีวร ผ้าขนหนู (ผืนเล็ก/ผืนใหญ่)
หมวดของใช้อื่น ๆ : ธูปเทียน ไฟแช็ก ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย ร่ม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจานหรือล้างห้องน้ำ กระดาษทิชชู่ รองเท้าแตะ ชุดจานชามและช้อนส้อม หนังสือบทสวดมนต์เล่มเล็ก สมุดและเครื่องเขียน ไม้ถูกพื้น แปรงล้างห้องน้ำ
ยารักษาโรค และอุปกรณ์ขั้นพื้นฐาน
อย่าลืมว่า “พระสงฆ์” คือ มนุษย์ผู้หนึ่งที่สามารถเจ็บป่วยได้ และในยามเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ การมีกระเป๋ายาที่อัดแน่นไปด้วยยาสามัญประจำบ้านอยู่ภายในกุฏิก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย ดังนั้น หากคุณสนใจจัดสังฆทานสายยารักษาโรคขั้นพื้นฐาน ขอแนะนำเลยว่า ภายในกล่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ควรมี
ยารักษาโรคสามัญ : ยาหอม ยาหม่อง ยาพาราเซตามอล คาลาไมน์โลชั่น ยาแก้ท้องเสีย ผงเกลือแร่ ยาแก้ไอ หรือครีมทาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ
อุปกรณ์ทำแผล : ผ้าก๊อต แอลกอฮอล์หรือน้ำเกลือล้างแผล เทปติดแผล เบตาดีน สำลี
อาหารแห้ง และเครื่องดื่ม
พอเห็นชื่อของเซตนี้ หลายคนคิดว่าง่าย จับ ๆ ของกินอะไรลงกล่องก็ได้ นั่นเป็นความเข้าใจผิด ๆ ต้องอย่าลืมว่า เวลาถวายอะไรไป พระท่านก็รับไว้ทั้งหมด ดังนั้น พยายามเลือกซื้อกันซักนิด สำหรับอาหารแห้ง และเครื่องดื่ม ที่น่านำมาจัดชุดสังฆทาน อาทิ มาม่า โจ๊กหรือข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ผักกาดดองกระป๋อง โอวัลตินหรือไมโลแบบซอง กาแฟแบบซอง นมกล่อง ขิงผงสำเร็จรูป และใบชาสำเร็จรูป
นอกจาก ของที่น่านำมาจัดชุดสังฆทานแล้ว ก็ยังมีสิ่งของบางอย่างที่ไม่ควรถวายเป็นสังฆทาน อาทิ บุหรี่ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น แต่ท้ายที่สุด ไม่ว่าคุณจะใส่อะไรลงไปในชุดสังฆทาน ก็อย่าลืมดูวันหมดอายุกันด้วย แทนที่จะได้ทำบุญ ก็อาจได้บาปกลับมาแทนได้